แมนูไลฟ์เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเอเชียพบแนวโน้มขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 12:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ญี่ปุ่นกระเตื้องหลังใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์ ฮ่องกงสวนกระแส ความเชื่อมั่นติดลบ - นักลงทุนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียและแคนาดามีความเชื่อมั่นในอนาคตมากขึ้นซึ่งมากกว่านักลงทุนในสหรัฐอเมริกา - “ช่องว่างความผันผวน” ชัดเจนขึ้นระหว่างความเชื่อมั่นกับการลงทุน - นักลงทุนตลาดเอเชียที่พัฒนาแล้วลงทุนแบบ “บาร์เบล” เน้นเงินสด หุ้น - ความคาดหวังในผลตอบแทนของนักลงทุนเอเชียที่สูงเกินจริง เป็นอุปสรรคต่อการเลือกลงทุน - นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสดเป็นจำนวนมากแม้ผลตอบแทนแท้จริงติดลบ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียล่าสุด จากการทำสำรวจโดยการสัมภาษณ์นักลงทุนกว่า 3,500 คน ใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเซีย ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นนักลงทุนเป็นขาขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจจากดัชนีความเชื่อมั่นของแมนูไลฟ์แคนาดา และจอห์น แฮนค็อกซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของแมนูไลฟ์ในสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นทุกตลาดเป็นบวก ยกเว้นฮ่องกง และเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากนโยบายอาเบะโนมิกส์ นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ขณะที่ตลาดเดียวที่แสดงความเชื่อมั่นติดลบนั่นคือฮ่องกง ผลสำรวจ Manulife ISI แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ ทั้งในเอเชียและแคนาดา มองว่าสถานะทางการเงินจะมีการปรับระดับดีขึ้นใน 2 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจที่ผ่านมา สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น ครึ่งหนึ่งของนักลงทุนยังมองเห็นว่าสถานะทางการเงินจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง “ผลการสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเอเชียตอบสนองต่อสัญญาณฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของทวีปอเมริกาเหนือ แต่นักลงทุนหลายรายยังไม่พร้อมที่จะลงทุนและเลือกใช้แนวทางที่เน้นการถือเงินสดเป็นจำนวนมากไว้แทน ซึ่งส่งผลให้ พวกเขาสูญเสียเงินไปโดยปริยาย” มร. โรเบิร์ต เอ คุ้ก, ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชีย ของแมนูไลฟ์ กล่าว แม้ผลสำรวจโดยรวมจะออกมาเป็นบวก แต่ก็มีจุดอ่อนของความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อมั่นกับแผนลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เช่นในญี่ปุ่น ที่ นักลงทุนมีทัศนะเชิงบวกเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น แต่ผู้วางแผนลงทุนอย่างจริงจังกลับมีจำนวนต่ำกว่าในจีนและไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่ำกว่า ผลสำรวจ Manulife ISI ยังชี้ให้เห็นแนวทางลงทุนแบบ “บาร์เบล” ในตลาดเอเชียที่พัฒนาแล้ว โดยนักลงทุนให้ความสำคัญกับเงินสดและหุ้น ซึ่งสินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้ เป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่ถือครองมากที่สุดสองอันดับแรก และเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนถืออยู่มากที่สุดสองอันดับแรกด้วยเช่นกัน (ยกเว้นบ้านที่อยู่อาศัยหลัก) ผลสำรวจ Manulife ISI ระบุด้วยว่านักลงทุนเอเชียอยู่ในภาวะถือเงินสดมากเกินไป โดยร้อยละ 40 ของสินทรัพย์(นอกจากบ้านที่อยู่อาศัยหลัก) ของผู้ที่ตอบคำถามที่ถืออยู่ จะอยู่ในรูปของเงินสด โดยสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าสินทรัพย์ในลำดับรองลงมา คือ ประกันภัยและหุ้นถึงสองเท่าตัว เมื่อพิจารณาทั้งภูมิภาค ผลสำรวจ Manulife ISI ยังบ่งชี้ว่า นักลงทุนในภูมิภาคเอเซียคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง โดยนักลงทุนครึ่งหนึ่งที่สำรวจระบุว่า คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ราวร้อยละ 20 จากการลงทุนหุ้น ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่แท้จริงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาถึงสองเท่าตัว “ความคาดหวังต่อตลาดหุ้นของนักลงทุนค่อนข้างสูง” มร. โรนัลด์ ชาน, หัวหน้าส่วนการลงทุนตราสารทุนภูมิภาคเอเชีย, Manulife Asset Management กล่าว “ตลาดโลก รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิก มีความผันผวนมากขึ้นในช่วงนี้จากการทยอยลดมาตรการ QE ในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี แม้ทิศทางระยะสั้นของตลาดโดยรวมน่าจะเป็นไปตามรายงานข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค แต่ย้อนหลังหนึ่งปีที่ผ่านมาปัจจัยพื้นฐานปรับตัวดีขึ้น และยังคงมีโอกาสมากมายในตลาดหุ้นสำหรับนักลงทุนเมื่อพิจารณาตามรายภาคอุตสาหกรรมและตามรายหุ้น” การตอบสนองเชิงบวกต่อนโยบายอาเบะโนมิกส์ส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในผลสำรวจ Manulife ISI และสอดคล้องกับการศึกษาใหม่ ชื่อ “มุมมองของอาเบะโนมิกส์ : ความหมายสำหรับตลาดการเงิน (The outlook for Abenomics: Implications for financial markets)” ซึ่งจัดทำขึ้น โดย Manulife Asset Management โดยผลสำรวจชี้ว่านโยบายอาเบะโนมิกส์น่าจะประสบความสำเร็จโดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายด้าน รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาษีบริโภครูปแบบใหม่ตามที่วางแผนไว้และความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ขณะที่ นายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า แม้เงินฝากธนาคารจะยังเป็นสินทรัพย์ ที่นักลงทุนไทยถือมากที่สุด แต่เราเชื่อว่า เงินฝากธนาคารนั้นได้นำไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ตัวเลขสองหลัก โดยปัจจุบันนักลงทุนจำเป็นต้องหาทางเลือกในการลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสินทรัพย์ลงทุนของตนเอง ซึ่งสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ หุ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยตรงหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ เช่น กองทุนหุ้น กองทุนผสม หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขณะที่การส่งเสริมการขายกองทุนรวมอย่างแข็งขันจากบริษัทจัดการกองทุนและกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งผลให้นักลงทุนมีความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราการเข้าลงทุนในกองทุนรวมพิจารณาจากจำนวนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งทะยานขึ้นจาก 1.48 ล้านบัญชีในปี 2550 มาอยู่ที่ 3.55 ล้านบัญชีในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 นอกจากนี้ สัดส่วนบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนต่อบัญชีเงินฝากธนาคารยังเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 1.14 ในปี 2545 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.33 ในปี 2555 อีกด้วย โดยเราเชื่อว่าสัดส่วนดังกล่าวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ — ผลสำรวจหลัก ความเชื่อมั่นนักลงทุน - ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชียโดยรวมขยับขึ้นร้อยละ 4 จากดัชนีล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา (จาก +17 เป็น +21) โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไต้หวัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มขาขึ้นของดัชนีที่แคนาดา (จาก +31 เป็น +35) และสหรัฐฯ (จาก +24 เป็น +26) - ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดในญี่ปุ่นโดยนโยบายอาเบะโนมิกส์และความเชื่อเกี่ยวกับสภาวะตลาดที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นในสินทรัพย์ทุกประเภท แต่ความเชื่อมั่นในฮ่องกงกลับปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยจากความเชื่อมั่นที่ลดลงในหุ้น กองทุนรวม และที่สำคัญที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์ - นักลงทุนส่วนใหญ่ในเอเชียและแคนาดาคาดว่าตนจะมีฐานะดีขึ้นในสองปี โดยตัวเลขทั้งสองตลาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนในญี่ปุ่น แม้โดยรวมจะมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น แต่ตัวเลขเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5 มาอยู่ที่เกือบหนึ่งในสามของนักลงทุน ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในเอเชีย ขณะที่ในฮ่องกงสัดส่วนลดลงเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่ง การตัดสินใจลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อมั่น - ขณะที่ผู้ตอบคำถามกว่าสองในสามมีความเชื่อมั่นต่อหุ้นทั่วโลกในเชิงบวกหรือกลาง ๆ แต่น้อยกว่าหนึ่งในสี่มีแผนลงทุนสินทรัพย์ประเภทนี้มากขึ้นในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้ - สินทรัพย์ประเภทเดียวที่ความเชื่อมั่นสอดคล้องกับแผนลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ซึ่งการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมอยู่ในระดับสูง แนวทางลงทุนแบบบาร์เบล - นักลงทุนเอเชียในตลาดพัฒนาแล้วระบุว่า หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะนำเงินสดไปซื้อที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวทางลงทุนแบบบาร์เบลโดยเน้นถือเงินสดและหุ้น - เมื่อถามว่า สิ่งใดที่อาจจูงใจให้นำเงินสดไปลงทุน คำตอบที่ได้รับมากที่สุด คือ การลงทุนที่มีการรับประกันผลตอบแทน (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่อเนื่องในระดับปานกลาง (ตลาดอื่นทุกตลาด) ในขณะเดียวกัน เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับทางเลือกอื่นๆ ในการลงทุน คือทางเลือกอื่นเสี่ยงเกินไป ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง - นักลงทุนเอเชียกว่าครึ่งและส่วนใหญ่ในทุกตลาด ยกเว้นไต้หวัน คาดหวังผลตอบแทนจากหุ้นเป็นตัวเลขสองหลัก แม้ในความจริงจะไม่มี ตลาดใดที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง - ผู้ตอบคำถามเกือบ 9 ใน 10 ของอินโดนีเซีย ระบุว่า คาดหวังผลตอบแทนจากอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยร้อยละ 32 ต่อปี ซึ่งนับเป็นความคาดหวังที่อยู่ในระดับสูงที่สุด การถือครองเงินสด - ที่สิงคโปร์ นักลงทุนถือเงินสดเฉลี่ยเท่ากับรายได้ต่อหัว 35 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในเอเชีย กระนั้นผู้ตอบคำถามถึงครึ่งหนึ่งกลับรู้สึกว่ายังถือเงินสดไว้น้อยเกินไป มีเพียงร้อยละ 5 ที่รู้สึกว่าตนเองถือเงินสดมากเกินไป - ผู้ตอบคำถามระบุว่า เงินสดที่ตนถืออยู่นั้น มีเพียงหนึ่งในห้าที่ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด โดยที่เหลือตั้งใจเก็บไว้เพื่อเป้าหมายระยะกลางถึงระยะยาว - ในเกือบทุกตลาด เหตุผลหลักที่คนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น คือ กังวลว่าจะตัดสินใจลงทุนผิดพลาด 1เกี่ยวกับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ (Manulife ISI) ในเอเชียเป็นข้อมูลสำรวจรายไตรมาสของ แมนูไลฟ์ ซึ่งประเมินจากการติดตามทัศนะของนักลงทุนทั้งเจ็ดตลาดในภูมิภาคต่างๆ ที่มีต่อสินทรัพย์และเครื่องมือลงทุนประเภทหลัก ๆ การวิจัยถูกดำเนินการในฮ่องกง จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในแต่ละตลาดได้มีการสัมภาษณ์บุคคล 500 ราย ผ่านทางระบบออนไลน์ ยกเว้นในมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งวิจัยในลักษณะพบหน้า โดยผู้ตอบคำถามเป็นนักลงทุนชนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับร่ำรวย มีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจหลักในเรื่องการเงินในครอบครัว และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ลงทุนอยู่ Manulife ISI เป็นชุดวิจัยที่มีประวัติยาวนานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยใช้วัดความเชื่อมั่นนักลงทุนในแคนาดาตลอดช่วง 13 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นเริ่มใช้ที่กิจการจอห์น แฮนคอก ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2554 และเริ่มใช้ในเอเชียเมื่อต้นปีนี้ การวิจัยในเอเชียมี TNS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกเป็นผู้ดำเนินการในช่วงกลางเดือนเมษายน 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2556 รายละเอียดเกี่ยวกับดัชนีของแมนูไลฟ์แคนาดาและ จอห์น แฮนคอก สามารถตรวจสอบได้ที่ www.manulife.com และ www.johnhancock.com เกี่ยวกับ Manulife Financial Manulife Financial เป็นกลุ่มบริษัทการเงินชั้นนำที่มีฐานอยู่ในแคนาดา โดยมีฐานประกอบการหลักในเอเชีย แคนาดา และสหรัฐฯ ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี เชื่อถือไว้วางใจได้ และมีวิสัยทัศน์จากแมนูไลฟ์เพื่อใช้ตัดสินใจทางการเงินในเรื่องสำคัญ ๆ เครือข่ายพนักงาน ตัวแทน และหุ้นส่วนจัดจำหน่ายระหว่างประเทศของเรานำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการรักษาความมั่นคงทางการเงินและบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้า หลายล้านราย นอกจากนี้ เรายังให้บริการบริหารจัดการสินทรัพย์แก่ลูกค้าสถาบันด้วย โดย Manulife Financial และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ที่รับบริหารจัดการทั้งสิ้นอยู่ที่ 5.55 แสนล้านดอลลาร์แคนาดา (5.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2556 ในตลาดแคนาดาและเอเชีย บริษัทประกอบกิจการโดยใช้ชื่อว่า Manulife Financial ส่วนในสหรัฐใช้ชื่อว่า จอห์น แฮนคอก เป็นหลัก Manulife Financial Corporation ใช้เครื่องหมาย “MFC” ในตลาดหลักทรัพย์แคนาดา ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก และตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์และเครื่องหมาย “945” ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง สามารถตรวจสอบข้อมูล Manulife Financial ทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ manulife.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ