ฟิทช์ให้อันดับเครดิตโครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิระยะสั้นของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ ‘F1+(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) แก่โครงการหุ้นกู้ระยะสั้นประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน (SCB) มูลค่ารวมไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘F1+(tha)’ โครงการนี้ใช้เพื่อทดแทนโครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิระยะสั้นของธนาคารมูลค่ารวมไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาทซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 หุ้นกู้โครงการนี้จะมีอายุไม่เกิน 270 วัน ซึ่งจะทำการออกเป็นชุด ภายในระยะเวลา 1 ปี วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจการของธนาคาร ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ฟิทช์ให้แก่โครงการหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของธนาคารที่ ‘F1+(tha)’ เนื่องจากหุ้นกู้ภายใต้โครงการถือเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร อันดับเครดิตระยะสั้นดังกล่าวสอดคล้องกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘AA(tha)’ อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนการมีเครือข่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โครงสร้างเงินกู้ยืมและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ฐานะเงินกองทุนที่เหมาะสม และความสามารถในการทำกำไรที่ดี ฟิทช์เห็นว่า SCB มีการทำธุรกิจที่ยอมรับความเสี่ยง (risk appetite) สูงที่สุดระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสามแห่ง โดยพิจารณาจากการเติบโตสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงกว่าธนาคารอีกสองแห่ง และสูงกว่าอุตสาหกรรม รวมถึงการมีสินเชื่อกับธุรกิจบางแห่งที่มีฐานะการเงินอ่อนแอ ทั้งนี้ หากธนาคารมีการปล่อยกู้วงเงินสูงกับธุรกรรมซื้อหรือควบรวมกิจการขนาดใหญ่ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของสินเชื่อเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจมีแรงกดดันต่อเงินกองทุนและเพิ่มความผันผวนของคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงเศรษฐกิจขาลง ฐานะเงินกองทุนของ SCB ถือว่าเพียงพอในปัจจุบัน แม้ว่าจะลดลงจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง ทั้งนี้ ฟิทช์คาดว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะลงมาอยู่ในระดับปานกลางและไม่เป็นแรงกดดันต่อฐานะเงินกองทุน คุณภาพสินทรัพย์และสำรองหนี้สงสัยจะสูญมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับเดียวกันกับธนาคารใหญ่ทั้งสองแห่ง ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรของ SCB ถือว่ามีความโดดเด่นกว่าธนาคารใหญ่อื่น และน่าจะเป็นส่วนช่วยรองรับความเสี่ยงหากคุณภาพสินทรัพย์มีการถดถอยลงในระดับปานกลาง SCB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ธนาคารเป็นผู้นำในด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 24% และกระทรวงการคลังมีการถือหุ้นผ่านกองทุนวายุภักษ์อยู่ที่ประมาณ 23% ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต การปรับเพิ่มอันดับเครดิต อาจพิจารณาจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืนของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ และการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่องของฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคาร โดยที่ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) ไม่เพิ่มขึ้น หรือมีการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรหรือเงินกองทุนลดลง ตัวอย่างของเหตุการณ์ดังกล่าวอาจรวมถึง การเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จากการเพิ่มระดับการกระจุกตัวของสินเชื่อ และ/หรือ การเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงเกินไป โดยที่ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงไม่ได้ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น โดยความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอาจสะท้อนจากผลการดำเนินงานหรือเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้น การที่ฐานะเงินกองทุนลดลง และ/หรือ การปรับตัวลดลงของอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ