จีอี เฮลท์แคร์ เผยผลวิจัยพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาโรคมะเร็งทั่วโลกเพิ่มขึ้น 33.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 9, 2013 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง การลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริโภคอาหารที่มีโภชนาการต่ำ และหันมาออกกำลังกาย จะช่วยให้ทั่วโลกประหยัดได้ถึงปีละ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อี เฮลท์แคร์เผยผลการวิจัยขั้นทุติยภูมิระบุว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและวิธีการดำเนินชีวิตมีส่วนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งถึงปีละประมาณ 33.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลการวิจัยยังระบุว่า หากมีการลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ลงได้ โลกเราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ถึงปีละ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จีอี เฮลท์แคร์ ได้มอบหมายให้ GfK Bridgehead ดำเนินการวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยเน้นการวิจัยเรื่องผลกระทบของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่สำคัญ 4 ด้านคือ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารโภชนาการต่ำ และการออกกำลังกายที่น้อยเกินไป ต่อการเกิดมะเร็งสามประเภท คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ การวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาถึงค่าใช้จ่ายด้านโรคมะเร็งที่มีผลเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา 10 ประเทศ คือ บราซิล จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อินเดีย ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา นายจอห์น ดินีน ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี เฮลท์แคร์ กล่าวว่า ‘น่าตกใจมากกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทั่วโลกที่มีผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ได้จากการวิจัยนี้ แต่ผมมั่นใจว่าเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเล็กน้อย และมุ่งมั่นที่จะดูแลตนเอง ข้อมูลที่ได้รับนี้ยืนยันว่าโครงการ #GetFit ของเราสำคัญอย่างไรในการผลักดันในด้านการให้ความรู้ และการตระหนักรู้เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ รวมถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง’ งานวิจัยยังแยกข้อมูลให้เห็นว่า ในสิบประเทศที่ทำการวิจัย ประเทศใดมีค่าใช้จ่ายด้านมะเร็งเท่าใด จากจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมด 33.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งทั้งปีในปัจจุบัน และคำนวณว่าในปีนั้นอาจประหยัดได้เท่าใด หากลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลงได้ สหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาโรคมะเร็งต่อปี 18.41 พันล้านเหรียญฯ ซึ่งคิดเป็น 54% ของค่าใช้จ่ายทั่วโลก ตามด้วยจีน 8.57 พันล้านเหรียญฯ (25.3%) ฝรั่งเศส เยอรมัน และ ตุรกี ประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญฯ (4.4%) ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น บราซิล ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 378 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.1%) และซาอุดิอาระเบีย 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (0.3%) มีค่าใช้จ่ายด้านมะเร็งน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก ในขณะที่มีการยอมรับกันมานานแล้วว่า การสูบบุหรี่มีส่วนนำไปสู่การพัฒนาของโรคมะเร็งปอด ข้อมูลจากการวิจัยนี้ได้เผยให้เห็นว่า พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ เช่นการไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่ออกกำลังกาย และโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น นอกจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการไม่ออกกำลังกายและการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น การวิจัยนี้แสดงให้เห็นเพิ่มเติมว่าคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น (คะแนนความเสี่ยง = 1.61 ซึ่งหมายความว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนที่ออกกำลังกายถึง 61%) และการไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วโลกถึง 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาลฉบับที่ 27 ประจำปี 2554 (2011 Hospital-Based Cancer Registry) ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งแสดงข้อมูลผู้ป่วยรายใหม่ที่มารับบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ระบุว่า มะเร็งที่พบมาก 3 อันดับแรกในผู้ชาย คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (16.2%) มะเร็งหลอดลมและปอด (15.5%) และมะเร็งตับและท่อน้ำดี (15.3%) และมะเร็งที่พบมาก 3 อันดับแรกในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม (37.5%) มะเร็งปากมดลูก (14.4%) และมะเร็งลำไส้ใหญ่ (9.6%) โดยตรวจพบมากที่สุดในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และมีผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดอยู่ในภาคกลาง คิดเป็น 51.9% โดยในจำนวน 26 จังหวัดของภาคกลาง พบผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร (26.1%) ภาคที่พบผู้ป่วยมะเร็งรองลงมาคือ ภาคเหนือ (9.7%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (8.3%) และภาคใต้ (4%) รายงานระบุว่าผู้เข้ารับการวินิจฉัยที่เป็นผู้ชายมีมากถึง 33.9% ที่เมื่อมาวินิจฉัยก็พบว่าเป็นมะเร็งในระยะที่สี่แล้ว ส่วนผู้เข้ารับการวินิจฉัยที่เป็นผู้หญิงตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะที่สามมากที่สุดถึง 23.4% รายงานยังระบุว่ามีการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดมากที่สุด (38%) รองลงมาคือการใช้เคมีบำบัด (36.7%) งานวิจัยที่จีอี เฮลท์แคร์จัดทำขึ้นนี้ระบุอีกว่า ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ โดยการเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การดูแลน้ำหนักเพื่อสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย และรับการตรวจคัดกรองมะเร็ง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้และข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมยังคงมีอยู่มากในทุกประเทศ ประชากรมากกว่า 25% ของเจ็ดในสิบประเทศที่ทำการวิจัย ยังคงสูบบุหรี่เป็นประจำ การสูบบุหรี่มีมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศสและตุรกี ซึ่งมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี สูบบุหรี่ถึง 31% ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ หญิงชาวฝรั่งเศส และชายชาวตุรกี จัดอยู่อันดับสูงที่สุด คิดเป็น 31% และ 47% ตามลำดับ ชาวซาอุดิอาระเบียและสหราชอาณาจักร มีการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ในอันดับต่ำ โดยชาวซาอุดิอาระเบียและ สหราชอาณาจักรที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ใช้ชีวิตแบบอยู่กับที่ 68.8% และ 63.3% ตามลำดับ ในขณะที่ชาวอินเดีย และชาวเยอรมัน ใช้ชีวิตแบบอยู่กับที่เพียง 15.6% และ 28% ตามลำดับ การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #GetFit ของจีอี เฮลท์แคร์ ซึ่งรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการป้องกันโรคมะเร็ง ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผลการวิจัยและข้อมูลต่างๆ ได้ที่ http://newsroom.gehealthcare.com แคมเปญ # GetFit 2013 ของจีอีเฮลธ์แคร์ (www.ge-getfit.com) ดำเนินการจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึงรวมถึง Instagram, SinaWeibo ในประเทศจีน และ Twitter เพื่อกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของผู้คนทั่วโลกในการร่วมกันส่งเสริมพฤติกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพอันจะสามารถช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ