กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้หญิงที่นิยมใช้ครีมและผลิตภัณฑ์พอกหน้า (Mask) ที่มีการโฆษณาและจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต เสี่ยงได้รับอันตรายจากสารห้ามใช้ที่ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แนะเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอนเชื่อถือได้ ฉลากภาษาไทยมีข้อความระบุชื่อและ ประเภทผลิตภัณฑ์สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ สถานที่ผลิต วันเดือนปีผลิต เลขที่รับแจ้งและคำเตือนอย่างชัดเจน
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเตือนผู้หญิงที่นิยมสั่งซื้อครีมและผลิตภัณฑ์พอกหน้า (Mask) ที่มีการโฆษณาและจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างสรรพคุณ เช่น ทำให้ผิวขาว หน้าใส อ่อนเยาว์ หน้าเด้ง ผิวเนียนนุ่ม น่าสัมผัส ช่วยแก้ไขปัญหาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ หน้าหมองคล้ำ ริ้วรอยและร่องลึกบนใบหน้า เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อ้างสรรพคุณในการทำให้หน้าขาวมีการใส่สารออกฤทธิ์สำคัญที่ช่วยในการขจัดสีผิว โดยไปยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ไม่ให้ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีได้ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดออกไป และเพิ่มการดูดซับน้ำของผิว ทำให้ผิวหน้าดูใสและอ่อนวัย ในปี พ.ศ.2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้รับตัวอย่างครีมจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นตัวอย่างที่สั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต จำนวน 44 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์ตรวจพบสารห้ามใช้ 3 ชนิด จำนวน 12 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 27 แบ่งเป็น พบสารไฮโดรควิโนน 2 ตัวอย่าง สารประกอบของปรอท 9 ตัวอย่าง และพบสารไฮโดรควิโนนร่วมกับกรดเรทิโนอิก 1 ตัวอย่าง
เครื่องสำอางทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ผู้ประกอบการผลิตหรือนำเข้าจะต้องมา จดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หากผ่านการตรวจสอบเอกสารว่าส่วนประกอบ ในสูตรตำรับเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับต่างๆ กล่าวคือ ไม่มีสารห้ามใช้หรือหากมีสารที่ควบคุมปริมาณ การใช้จะต้องไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ผลิตภัณฑ์นั้นก็จะได้เลขที่รับแจ้ง ซึ่งจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้ที่ฉลากของเครื่องสำอางด้วย ทั้งนี้ครีมที่โฆษณาทางอินเตอร์เน็ตหลายยี่ห้อ มีเลขที่รับแจ้งซึ่งเป็นเลข 10 หลัก เช่น 10-1-5507445
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า ในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางด้วยความระมัดระวัง จากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอนเชื่อถือได้ ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ คำเตือนและ เลขที่รับแจ้ง 10 หลักอย่างชัดเจน หากใช้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้วมีอาการผิดปกติหรือเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ครั้งแรกหรือใช้มานานแล้วก็ตาม ต้องหยุดใช้ทันทีและรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้หากพบสิ่งผิดปกติหรือสงสัย ในอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้เครื่องสำอางให้ร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โทรสายด่วน 1556 หรือส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ได้ที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง
นายบำรุง คงดี ผู้อำนวยการสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางที่ตรวจพบในครีมที่สั่งซื้อจากอินเตอร์เน็ต มี 3 ชนิด ได้แก่ สารไฮโดรควิโนน มีฤทธิ์ทำให้ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย กรดเรทิโนอิก ทำให้แสบร้อนรุนแรง ผิวหน้าลอก และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ในขณะที่สารประกอบของปรอท มีอันตรายร้ายแรงมาก ทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง และเมื่อสารปรอทสะสมในร่างกาย ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบและไตอักเสบได้อีกด้วย การทดสอบเบื้องต้นของสารทั้ง 3 ชนิดนี้ ใช้ชุดทดสอบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าให้ผลบวกให้ส่งทดสอบยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตรายและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ
สารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาว ส่วนใหญ่เป็นสารที่ควบคุมปริมาณการใช้ เช่น สารที่ทำให้ทึบแสงและ แลดูขาวขึ้นได้แก่ titanium dioxide, zinc oxide และ bismuth subnitrate เป็นต้น ส่วนสารลอกเซลล์ผิวที่มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วให้หลุดลอกออกไป ทำให้ผิวหน้าดูใสและอ่อนวัย ได้แก่ กรดแอลฟ่าไฮดรอกซี่ (AHA) เช่น กรดไกลโคลิก, กรดแลคติก และกรดเบต้าไฮดรอกซี่ (BHA) เช่น กรดซาลิไซลิก และสารต่อต้านกลไก การสร้างสีผิว ได้แก่ อาร์บูติน กรดโคจิก อนุพันธ์ของวิตามีนซีและสารสกัดจากพืช เช่น ชะเอม, หม่อน, Apricot, Peach, เปลือกมะนาว เป็นต้น