กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กบข.
นายรามีน ทูรูอิ รองประธานกรรมการ บริษัท พิมโก กล่าวในงาน GPF Symposium 2013 ซึ่ง กบข. จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงท่ามกลางภาวะการลงทุนที่ผันผวนว่า ทุกวันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มักใช้อนุพันธ์ (Derivatives) ในการขยายเพดานการลงทุนมากจนเกินไป เพราะเน้นสร้างผลตอบแทนให้มากที่สุด จนบางครั้งก็ละเลยการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสียหายของพอร์ตการลงทุน สิ่งที่ต้องพิจารณาในการใช้อนุพันธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงนั้น คือการเพิ่มสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และเพิ่มผลตอบแทน ด้วยการกำหนดเพดานการลงทุนให้เหมาะสม
“นักลงทุนสถาบันจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากการใช้อนุพันธ์ เพราะใช้ขยายเพดานการลงทุนเกินพิกัด โดยละเลยการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ควรจะทำ ดังนั้นเมื่อภาวะการลงทุนอยู่ในขาลง จึงได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาด หรือบางสถาบันก็จำกัดการใช้อนุพันธ์ ทำให้ไม่สามารถจัดการความเสี่ยงบางอย่างได้ เช่น ในกรณีที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทที่เกิดขาดทุน และต้องปิดตัวเอง อนุพันธ์ CDS (Credit Default Swap) ก็จะชดเชยให้เราได้เงินตามที่ตกลง สรุปสั้นๆ ว่า การบริหารความเสี่ยงโดยการใช้อนุพันธ์ ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และการปิดความเสี่ยงเพื่อรักษาเงินลงทุน” นายรามีนกล่าว
นางสาวเบลินดา โบอา กรรมการผู้จัดการ บ.แบล็คร็อค กล่าวว่า ทุกวันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ หรือตราสารทุน ซึ่งมีความผันผวนสูงมาก และผลตอบแทนเริ่มหายากขึ้น การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) เช่น นิติบุคคลเอกชน อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน เป็นสินทรัพย์ใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในการสร้างผลตอบแทน ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนที่ดี แม้จะมีสภาพคล่องน้อย และไม่มีราคาอ้างอิงตลาดที่เป็นปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการวัดผลตอบแทน แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว ความผันผวน และการจัดการความเสี่ยงก็จะควบคุมได้ดีกว่าการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้
นอกเหนือจากการกระจายสินทรัพย์ไปในการลงทุนทางเลือกแล้ว การเฝ้าระวัง และติดตามความเสี่ยง (Risk Monitoring) ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต้องทำ ได้แก่ การทำแบบจำลองสถานการณ์ (Scenario Analysis) และต้องดูความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากสินทรัพย์แต่ละประเภททั้งพอร์ตการลงทุนอีกด้วย
นายตรีพล ภูมิสวนะ ผู้อำนวยการ ฝ่ายลงทุนต่างประเทศและบริหารผู้จัดการกองทุน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า สินทรัพย์แต่ละประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกัน และไม่ใช่เรื่องยากในการทำความเข้าใจและวัดระดับความเสี่ยงอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันผู้จัดการกองทุนมีความรู้ความเข้าใจความเสี่ยงที่ลึกซึ้ง ประกอบกับมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ทันสมัย สำหรับสถานการณ์ลงทุนปัจจุบันที่มีความผันผวนสูงและทิศทางดอกเบี้ยกำลังเข้าสู่ขาขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อการลงทุนในตราสารหนี้
กบข. มิได้นิ่งนอนใจในสถานการณ์ดังกล่าว โดยกำลังศึกษาแนวทางบริหารความเสี่ยง เช่น ลดสัดส่วนการลงทุน หรือลดอายุการถือครองตราสารหนี้ รวมถึงขยายกรอบและข้อจำกัดการลงทุน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารพอร์ตการลงทุน เช่น การใช้ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ในการบริหารความเสี่ยง และขยายการลงทุนทางเลือก เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ ในวงสัมมนายังได้สรุปบทบาทของผู้จัดการความเสี่ยง (Risk Manager) ดังนี้
- ต้องหลีกเลี่ยง และลดโอกาสการขาดทุนขนาดใหญ่ ด้วยการตรวจสอบและควบคุมอย่างสม่ำเสมอ
- ต้องเข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภทอย่างถ่องแท้ และสามารถวัดความเสี่ยงได้อย่างมีหลักการ และนำมาบริหารความเสี่ยงอย่างเกิดประสิทธิภาพ
- ต้องระลึกเสมอว่าเป้าหมายการทำงานไม่ใช่เพื่อกำจัดความเสี่ยง แต่ต้องหาความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนตามต้องการ
- ต้องกำหนดกฏเกณฑ์ หรือกรอบการลงทุนเพื่อควบคุมความเสี่ยง