กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กบข.
โรเบิร์ต เมอร์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบล เศรษฐศาสตร์ปี 40 เผยผลวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงด้านเครดิตระหว่างสถาบันการเงินและความเสี่ยงของประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเชื่อมโยงกันมากขึ้น แนะผู้ออกนโยบายคำนึงผลกระทบ ชี้วิกฤติมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หวังให้แบบจำลองช่วยส่งสัญญาณเตือน
นายโรเบิร์ต เมอร์ตัน ศาสตราจารย์ ประจำ MIT เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2540 กล่าวในงาน GPF Symposium 2013 ซึ่ง กบข. จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงท่ามกลางภาวะการลงทุนที่ผันผวนว่า ตนเองได้พัฒนาแบบจำลองที่วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงด้านเครดิตระหว่างสถาบันการเงินและความเสี่ยงของประเทศ ซึ่งพบว่า หลังจากเกิดวิกกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 มีความเชื่อมโยงกันของความเสี่ยงด้านเครดิตระหว่างสถาบันการเงินและรัฐบาลของประเทศต่างๆ มากขึ้น และส่งผลกระทบถึงกันอย่างรวดเร็ว
“ผมวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงด้านเครดิตของธนาคาร บริษัทประกัน และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในช่วงก่อนและหลังวิกฤตปี 2551 มาวิเคราะห์ในแบบจำลองแล้วพบว่า เมื่อธนาคารมีปัญหาด้านเครดิต จะส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันและรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และล่าสุดผมวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของความเสี่ยงด้านเครดิตของประเทศในกลุ่ม GIIPS (กรีซ อิตาลี ไอแลนด์ โปตุเกส สเปน) พบว่า มีความเชื่อมโยงกันในช่วงที่เกิดวิกฤติ อย่างที่เราเห็นกันอยู่คือ เมื่อเกิดวิกฤติหนี้ในประเทศหนึ่ง จะลุกลามไปอีกประเทศหนึ่งอย่างรวดเร็ว”นายโรเบิร์ตกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่า การดำเนินนโยบายการเงินการคลังของแต่ละประเทศจะมีความเชื่อมโยงถึงอีกประเทศหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ออกนโยบายควรตระหนักถึงผลกระทบของนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
นายโรเบิร์ต กล่าวทิ้งท้ายว่า ผมเชื่อว่า วิกฤติการณ์ทางการเงินจะเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต ซึ่งผมอยู่ระหว่างพัฒนาแบบจำลองดังกล่าว เพื่อให้สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดหวังว่า แบบจำลองนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยส่งสัญญาณการเกิดขึ้นของวิกฤติครั้งต่อไปได้ และช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ