กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
สาธิตข้ามทวีปสู่สหรัฐ
“ กู้ภัยหัวใจ ”
“ เคสยาก ” แพทย์ไทยทำได้
รักษาผู้ป่วยชาวไทยที่เจอภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันปิดทางผ่านของเลือดไปเลี้ยงหัวใจอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกลายเป็น ‘เคส’ ตัวอย่างให้ที่ประชุมทางวิชาการสำหรับแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ได้ชมกันที่เมืองมะกันแบบสดๆ ร้อนๆ ระหว่างปฏิบัติการสวนหัวใจช่วยชีวิตที่ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกคนไข้
เมื่อกลางดึกวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.ศกนี้ คณะแพทย์ประจำศูนย์ขยายหลอดเลือดหัวใจ รพ.รามคำแหง ได้ทำปฏิบัติการสวนหลอดเลือดหัวใจของผู้ป่วย ชาย อายุ 44 ปีที่เกิดอาการเจ็บหน้าอกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาและแพทย์ตรวจพบว่ามีไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจในระดับสูงถึง 3 เส้นโดยที่หลอดเลือดหัวใจเส้นหนึ่งนั้นอยู่ในขั้นอุดตันแบบชนิดที่เลือดผ่านไปไม่ได้เลยหรือตันสนิทนั่นเอง ขณะที่อีก 2 เส้นก็มีสภาพอุดตันในระดับอันตรายอีกด้วย เป็นผลให้แพทย์ได้ให้การรักษาโดยทำการขยายด้วยบัลลูนเฉพาะ 2 เส้นที่ยังไม่อุดตันถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่อุดตันสนิทนั้นได้แนะให้เข้ารับการบำบัดรักษาที่ศูนย์ขยายหลอดเลือดหัวใจ รพ.รามคำแหง ซึ่งมีความพร้อมในการบำบัดรักษาสภาวะดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่าตัดทำบาย
กรณีการบำบัดรักษาผู้ป่วยรายนี้โดยทำการถ่ายทอดสดจากศูนย์ขยายหลอดเลือดหัวใจ รพ.รามคำแหง และส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังที่ประชุมวิชาการ ซี 3 ประจำปีนี้ซึ่งมีแพทย์โรคหัวใจจากหลายประเทศทั่วโลกจำนวนกว่า 1,000 คนมาร่วมประชุมที่เมืองออแลนโด รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกานั้นถือเป็นการสนับสนุนด้านวิชาการให้กับวงการแพทย์โรคหัวใจจากนานาประเทศได้ประจักษ์ถึงนวัตกรรมใหม่โดยฝีมือของแพทย์ชาวไทยผู้มีประสบการณ์การรักษากรณียากดังกล่าว ซึ่งได้นำเสนอผลงานต่อที่ประชุม ซี 3 เมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ และนำมาซึ่งการสาธิตการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์นี้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 56 โดยมีการเตรียมจอรับภาพขนาดยักษ์ไว้ในห้องประชุมเพื่อให้แพทย์และบุคคลากรการแพทย์ผู้มาร่วมประชุมได้ชมพร้อมกับซักถามแพทย์ไทยเป็นระยะๆ ขณะชมการสาธิตกระบวนการสวนหลอดเลือดหัวใจที่อุดตันสนิท ซึ่งถือว่านวัตกรรมที่ให้ประโยชน์ต่อวงการแพทย์โรคหัวใจ และตรงกับเป้าหมายของการจัดประชุมเชิงวิชาการ ซี 3 ที่มุ่งผ่าทางตันเพื่อแก้ไขสภาวะอาการของผู้ป่วยที่ยากต่อการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยของไทยรายนี้ โดยมีเป้าหมายให้แพทย์โรคหัวใจจากหลายประเทศทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพในการนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจในอีกหลายประเทศต่อไป
ข้อมูลสุขภาพโดย รพ.รามคำแหง
สายด่วนสุขภาพ 02-743-9999