กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแผนจับมือ 9 หน่วยภาครัฐและเอกชนลงนามเอ็มโอยูร่วมขับเคลื่อนแผนโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญลงระดับพื้นที่ หวังชี้ชัดพื้นที่ปลูกตามศักยภาพของตลาด
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายโซนนิ่งขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ กำลังผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่ตามที่ได้ประกาศเขตความเหมาะสมการปลูกพืชแล้ว 13 ชนิด ปศุสัตว์ 5 ชนิดและประมง 2 ชนิด โดยในเร็วๆ นี้กระทรวงเกษตรฯ จะลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ภาคเกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอีก 9 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการเขตการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือโซนนิ่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สำหรับการลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนปลายน้ำได้เข้ามาร่วมกันกำหนดปริมาณ คุณภาพ มาตรฐาน และราคาที่เหมาะสมของสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งยังช่วยกำหนดพื้นที่การผลิตที่เหมาะสมและมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและระบบโลจิสติกส์ด้วย โดยเฉพาะพืชในกลุ่มพลังงานที่มีศักยภาพด้านการตลาดอย่างมาก เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน และที่สำคัญคือการสร้างให้เกิดความสมดุลและมีเสถียรภาพทางด้านและราคาและคุณภาพของผลผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรในระยะยาว
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานขณะนี้นั้นได้มอบหมายให้นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนใน เอ็มโอยูที่จะเกิดขึ้น ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดจะมีบทบาทสำคัญในการหารือและวางแผนกับเกษตรกรในจังหวัดว่าจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดใด และพื้นที่ใดที่มีศักยภาพและเกษตรกรพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
“สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือในการขับเคลื่อนโซนนิ่งนั้นทั้ง 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประกาศเขตการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการจูงใจ และส่งเสริมการผลิตของเกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ขณะเดียวกัน จะสนับสนุนให้มีการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งระหว่างผู้ซื้อและเกษตรกรในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งความร่วมมือในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร และเสริมองค์ความรู้และพัฒนาเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของแหล่งรองรับผลผลิต และส่วนสุดท้ายคือการสนับสนุนข้อมูล ประสาน จัดหาโรงงานแปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ และข้อมูลความต้องการวัตถุดิบสินค้าเกษตร แหล่งรองรับผลผลิตและร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลูกพืชด้วย”นายยุคล กล่าว