กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--สำนักงาน กสทช.
- ย้ำชัดไม่ขัดกฎหมาย เหตุมีบทบัญญัติกฎหมายและแนวคำพิพากษาศาลปกครองวางบรรทัดฐานสนับสนุนไว้ชัดเจน ติงคู่กรณีอ้างกฎหมายไม่ครบ หวั่นหากเพิกถอนประกาศฯ นอกจากจะผิดกฎหมายยังส่งผลสะเทือนถึงผู้ใช้บริการมือถือเดือดร้อนแน่
จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 หรือที่เรียกกันว่า “ประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่ง” ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2556 ต่อมาบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศฯดังกล่าว และมีการเสนอข่าวโดยให้ข้อมูลด้านเดียวอย่างต่อเนื่องว่าการทำหน้าที่ของ กสทช. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก จึงขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้
ประกาศฯชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาศาลปกครองวางบรรทัดฐานไว้แล้ว
สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงและยืนยันว่า การออกประกาศ กสทช. ดังกล่าว ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ทุกประการ ที่สำคัญมีแนวบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลปกครองชี้ขาดประเด็นข้อกฎหมายในกรณีที่คล้ายกัน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับประกาศฉบับนี้ โดยที่ประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่งนี้ออกตาม มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานที่มีสิทธิตามสัญญาเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้ร่วมกันอันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นไปตามมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญ ประโยชน์ท้ายที่สุดจะตกอยู่กับผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ใช้บริการ
สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนใดๆ ที่อ้างกฎหมายควรระบุข้อกฎหมายให้ครบถ้วนมิใช่อ้างเฉพาะส่วนที่เป็นคุณ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เช่น กรณีการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่เดิมตามสัมปทานตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) ก็จำเป็นจะต้องอ้างถึงบทบัญญัติหลักในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญที่วางหลักการดำเนินการของ กสทช. ว่า ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะต้องพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามมาตรา 27 (8) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ให้อำนาจหน้าที่ กสทช. ในการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการใช้หรือเชื่อมต่อ และหลักเกณฑ์และวิธีกการในการกำหนดอัตราค่าใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการและผู้ลงทุน หรือระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ และเมื่อพิจารณาในส่วนของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 แม้มาตรา 80 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ จะบัญญัติถ้อยคำเหมือนมาตรา 305 (1) แห่งรัฐธรรมนูญ โดยให้คงมีสิทธิต่อไปจนกว่าสัมปทานจะสิ้นสุดลงก็ตาม ก็จำเป็นต้องพิจารณาความตามมาตรา 80 วรรคสองด้วย เพราะวรรคสองของมาตรา 80 ได้กำหนดเงื่อนไขของขอบเขตของสิทธิที่มีอยู่ตามสัมปทานเดิมอย่างชัดเจนว่าจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ บนพื้นฐานของหลักการการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม และที่สำคัญผู้นั้นต้องมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย ซึ่งหากฝ่าฝืนก็เป็นเหตุให้คณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้
ฉะนั้น กรณีที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน จึงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งผู้รับสัมปทานที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด การที่ประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่งกำหนดคำจำกัดความของ “ผู้รับใบอนุญาต” ให้หมายความถึงผู้ได้รับสัมปทานฯ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ใช้บังคับ จึงเป็นไปตามกฎหมาย และมิได้ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ระบุชัดใช้ฐานอำนาจตามมาตรา 25 เช่นเดียวกับ กทช.
ในเรื่องนี้ สมัยที่ กทช. ใช้อำนาจตามมาตรา 25 ออกประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ภายใต้หลักการเดียวกันกับการออกประกาศนี้ได้มีผู้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคล้ายคลึงกับกรณีนี้ ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าประกาศที่ถูกฟ้องให้เพิกถอนเป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากสอดคล้องกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และสอดคล้องกับมาตรา 80 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ รวมทั้งไม่ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจึงขอยืนยันว่า การออกประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่งของ กสทช. มีฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับชัดเจน และหากมองว่า ประกาศเรื่องนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมและพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมก็ต้องขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน ซึ่งมิได้เป็นเช่นนั้น และปัจจุบันทั้งพระราชบัญญัติและประกาศดังกล่าวก็ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่
“เศรษฐพงค์”ย้ำประกาศนี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมือถืออย่างทั่วถึง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ด้าน พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ประกาศดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เนื่องจากจะทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ลดการผูกขาดโดยจะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และช่วยให้การสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ช่วยเพิ่มคุณภาพของการให้บริการ ลดต้นทุนซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการในเรื่องค่าบริการ ลดผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์อันเนื่องมาจากการตั้งเสาสัญญาณโครงข่ายจำนวนมาก และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากคลื่นวิทยุ รวมถึงผู้ให้บริการสามารถเร่งรัดการสร้างโครงข่ายเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการในการใช้บริการ 3G ทำให้ประชากรทุกจังหวัดสามารถเข้าถึงบริการของผู้ให้บริการได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี อีกทั้งการบังคับใช้ประกาศนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน
นอกจากนี้ ในวันที่ 15 กันยายน 2556 การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G จะหมดอายุสัญญาสัมปทาน ทำให้มีการโอนย้ายเครือข่ายของผู้ใช้บริการจำนวนไม่ต่ำกว่า 17 ล้านเลขหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาใช้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จะต้องลงทุนและจัดหาโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเช่าหรือให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานตามประกาศฯนี้จะช่วยลดและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สุทธิพล”หวั่นหากยกเลิกประกาศฯนี้ผู้ใช้มือถือเดือดร้อนแน่ แถม CAT เอง ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้ง 2 จี และ 3จี ได้เดินหน้าในการให้บริการโทรคมนาคมโดยได้อาศัยกลไกของประกาศฯนี้ใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกันไปแล้ว ทำให้มีผู้ใช้บริการอยู่ภายใต้บังคับของประกาศฯนี้เป็นจำนวนมากที่เกิดจากการใช้และเชื่อมต่อในกรณีผู้ให้บริการ 3จี ด้วยกัน ในกรณีผู้ให้บริการ 2 จี ด้วยกัน และในกรณีผู้ให้บริการ 2 จีกับผู้ให้บริการ 3 จี หากมีการเพิกถอนประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่งฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการขัดต่อมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว ย่อมทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ต้องลงทุนสร้างโครงข่ายด้วยตนเองทุกราย โดยไม่อาจให้เช่าโครงข่ายได้ตามที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ซึ่งการลงทุนสร้างโครงข่ายดังกล่าวย่อมจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลและใช้ระยะเวลาดำเนินการเนื่องจากเครื่องและอุปกรณ์เหล่านี้มิได้มีการผลิตขึ้นในประเทศแต่จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ และเมื่อผู้ใช้บริการจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงและได้มีการโอนย้ายมายังโครงข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ก็ย่อมทำให้โครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เกิดปัญหาโครงข่ายไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการจำนวนดังกล่าวได้ ท้ายที่สุดผลกระทบย่อมเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกัน CAT ซึ่งเป็นผู้ฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศนี้ หากมีการเพิกถอนประกาศฯนี้จริง ก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากจะไปขอใช้โครงข่ายกับค่ายอื่นไม่ได้ และจะไปใช้โครงข่ายตามกลไกของประกาศ กทช. ว่า ด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯก็จะมีข้อจำกัด เนื่องจากจะต้องใช้ทั้งระบบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก
ปัจจุบันผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G มีผู้ใช้บริการอยู่ในโครงข่ายทั่วประเทศแล้วไม่น้อยกว่า 3 ล้านราย และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการโอนย้ายมาจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง ซึ่งการจะให้ผู้ใช้บริการดังกล่าวสามารถใช้บริการได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สะดุด จึงมีความจำเป็นต้องมีการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานของผู้ประกอบการรายเดิม ไม่ว่าจะเป็นผู้รับใบอนุญาต หรือผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการดังกล่าว รวมทั้งผู้ใช้บริการ 2 จี ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ดังนั้น การที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กสทช. เกี่ยวกับการออกประกาศดังกล่าวในลักษณะทำให้สังคมเข้าใจผิด ว่า กสทช. ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะทำให้รัฐเสียประโยชน์นั้น จึงไม่เป็นความจริง โดย กสทช. ขอยืนยันนอกจากว่าการออกประกาศฯดังกล่าวจะไม่เพียงแต่เป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มการแข่งขันกันในการให้บริการแล้ว ก็ยังจะทำให้เกิดการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการที่ผู้รับใบอนุญาตรายใดละเลยไม่ปฏิบัติหรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เกี่ยวกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ หรือผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม และให้ข้อมูลในทำนองที่ว่า กสทช.กระทำผิดกฎหมายนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการไม่ได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ เกิดข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม และที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เตือนต้องเคารพในดุลพินิจของศาล
การเปลี่ยนผ่านกิจการโทรคมนาคมจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการอาจจะต้องได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็จำเป็นต้องปรับบริบทการดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับกติกาใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคการแข่งขันเสรี อย่างเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม ภายใต้การขับเคลื่อนของ กสทช. ซึ่งขอให้มั่นใจว่า กสทช.จะกำกับดูแลด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งจะให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หากยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกันและมีความจำเป็นต้องพึ่งกระบวนการทางศาลในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับกฎกติกาของ กสทช. แม้จะถือเป็นเรื่องปกติในการใช้สิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย แต่สำหรับคดีนี้กำลังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครอง จึงน่าจะเหมาะสมมากกว่าถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของกระบวนการพิจารณาคดีและเคารพในการใช้ดุลพินิจของศาล