กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส. ร่วม ส.ป.ก. เปิดโอกาสให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. สามารถขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตสร้างความเป็นธรรมในสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก.ในการดำเนินโครงการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เพื่อขยายโอกาสให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมณ ห้องโถงชั้น 2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) อาคารสำนักงานใหญ่ บางเขน
หลังเสร็จสิ้นพิธีลงนาม นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2535 ธ.ก.ส. กับส.ป.ก. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงในการดำเนินงาน เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ได้รับสิทธิจากการปฎิรูปที่ดินสามารถใช้สิทธิในที่ดินที่ได้รับจาก ส.ป.ก. มาใช้เป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้ให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ทำกินที่ได้รับสิทธิจาก ส.ป.ก. แล้ว จำนวน 288,837 ราย เป็นเงิน 37,578 ล้านบาท
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นฉบับที่ 5 ซึ่ง ธ.ก.ส. และ ส.ป.ก.ได้มีการทบทวนการจัดทำบันทึกข้อตกลงในการดำเนินงาน เรื่อง การให้ผู้ได้รับสิทธิจาการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอรับสินเชื่อจาก
ธ.ก.ส. จากเดิมจำกัดเฉพาะเกษตรกรรายคน ให้ขยายครอบคลุมถึงสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 140 สถาบันทั่วประเทศ ให้สามารถรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. โดยใช้ส.ป.ก.เป็นหลักประกันได้เช่นกันนอกจากนี้ยังได้เพิ่มเอกสารสิทธิ์จากเดิมที่ใช้เฉพาะโฉนด ส.ป.ก. ได้แก่ ส.ป.ก. 4-01(หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน )และส.ป.ก. 4-28(หนังสือรับมอบที่ดิน)ส.ป.ก. 4-14(สัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ส.ป.ก. 4-18 (สัญญาเช่าซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เป็นครอบคลุมทุกเอกสารสิทธิ์ทุกชนิดที่ ส.ป.ก.ออกให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวที่ยอมรับเอกสารสิทธิ์ของ ส.ป.ก.มาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือสนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินฯ ที่ได้รับสิทธิจากการปฏิรูปที่ดินฯ เป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมสร้างความเป็นธรรมในสังคมและก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพด้วย