กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยนายชัยยุทธ ทิพย์สุวรรณพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้ดูแลธุรกิจซีพี เฟรชมาร์ท เดินหน้าต่อยอดธุรกิจ "ปลายน้ำ" ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างรอบด้าน ภายใต้แบรนด์ ‘ซีพี เฟรชมาร์ท’ มุ่งกระตุ้นกระแสการยอมรับจากผู้บริโภคในฐานะผู้นำร้านจำหน่ายอาหารแช่แข็ง ทั้งอาหารสดและอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน ที่ครอบคลุมทั้งในแง่ความสะอาด ปลอดภัย และมีคุณภาพที่ดี หวังครองตำแหน่งผู้นำธุรกิจค้าปลีกด้านอาหาร (Food Retail) เพื่อรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายชัยยุทธ เปิดเผยว่า ซีพี เฟรชมาร์ทเป็นธุรกิจค้าปลีกที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านการเป็นผู้ผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยระดับโลกของซีพีเอฟ โดยได้เปิดดำเนินการมาเป็นเวลาร่วม 7 ปี และนับเป็นธุรกิจที่จะต้องเรียนรู้พร้อมกับทำความเข้าใจ เพื่อหาจุดต่างจากธุรกิจที่มีอยู่แล้วในตลาด ปัจจุบันซีพี เฟรชมาร์ท ขับเคลื่อนด้วย 3 โมเดลหลัก คือ ตู้เย็นชุมชน จำนวน 10,000 ตู้ ร้านซีพี เฟรชมาร์ท จำนวน 620 ร้าน และซีพี เฟรชมาร์ท พลัส (เดิมชื่อซีพี ฟู้ดมาร์เก็ต)จำนวน 5 สาขา
สำหรับปีนี้ ได้วางแผนสร้างความแข็งแกร่งให้กับโมเดลร้านต้นแบบเพื่อขยายธุรกิจ โดยเน้นการสร้างแบรนด์ และสร้างรูปแบบให้เข้าถึงและเป็นมิตรกับชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตู้เย็นชุมชนที่ได้กำหนดให้เป็นเสมือนตู้เย็นประจำบ้าน ที่บรรจุของที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของแต่ละบ้าน ขณะที่ร้านจะเป็นตู้เย็นของชุมชน ควบคู่ไปกับการขยายฐานลูกค้าผ่านกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าด้วยการสร้างพันธมิตรทางการค้า พร้อมไปกับการผลักดันให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าสมาชิกจากปัจจุบันที่มี 260,000 ราย ให้เป็น 500,000 รายภายในสิ้นปีนี้ (2556) โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักคือ กลุ่มคนทำงาน พ่อบ้านแม่บ้าน และพ่อค้าแม่ค้าหรือร้านค้า/ร้านอาหารรายย่อย
นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้าการเติบโตของลูกค้าให้ทุกสาขาต้องมีลูกค้าใหม่ที่มีการซื้อต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 5 รายต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มขึ้น 10% จากจำนวนเดิมที่มีอยู่ และยังมีแผนเพิ่มรายการสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงอาหาร กลุ่มเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มครอบครัว โดยปัจจุบันสัดส่วนสินค้าที่จำหน่ายแบ่งเป็น 3 แบรนด์ ประกอบด้วย แบรนด์ "ซีพี เฟรชมาร์ท" 35-40% แบรนด์ซีพี 30% และมัลติแบรนด์อีก 20%
นายชัยยุทธ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้เปิดให้บริการ "อีคอมเมิร์ซ" ด้วยการปรับระบบ Call Center เดิมที่มีอยู่ให้ Link กับระบบอีคอมเมิร์ซ โดยจะทดลองให้บริการกับพนักงานในองค์กร ก่อนขยายการบริการไปสู่ลูกค้าทั่วไปในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกให้กับลูกค้าในการเข้าถึงซีพี เฟรชมาร์ท
ทั้งนี้ ได้เตรียมงบประมาณจำนวน 1,500 ล้านบาท สำหรับขยายการลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ (2557-2559) โดยเฉพาะการขยายสาขาทั้ง 3 โมเดลหลัก เพื่อสร้างยอดขายให้ได้ที่ 20,000 ล้านบาทภายใน 4 ปีตามเป้าหมายที่วางไว้ และสำหรับปีนี้ (2556) คาดจะมีรายได้ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเติบโตที่ 32% จากปีที่ผ่านมา (2555)
ด้านการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ นายชัยยุทธ ให้ความเห็นว่า “ได้ดำเนินการสร้างโมเดลร้านต้นแบบไว้แล้ว สำหรับให้แต่ละประเทศเข้ามาเรียนรู้ และเมื่อศักยภาพประเทศนั้นๆพร้อมพร้อมก็สามารถดำเนินการได้เลย ภายใต้แนวคิดมันที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ จะไม่เป็นเพียง CP Outlet แต่ยังต้องเป็น Retailer ที่มีวัตถุดิบเป็นตัวประกอบหลักด้วย ขณะนี้จึงเริ่มเห็นการเติบโตที่ชัดเจนพร้อมๆไปกับการก้าวเข้าสู่เออีซี ที่ไม่ใช่การลงมือทำเมื่อเราพร้อม แต่ต้องทำโดยอาศัยความพร้อมของทั้งสองฝ่าย คือผู้ผลิตพร้อมและศักยภาพของการเป็นตลาดเออีซีที่พร้อม โดยเราในฐานะผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องทำอะไรที่ล้ำหน้าไปบ้างเล็กน้อย เพื่อจะได้เห็นความชัดเจนของความเป็น Global ที่มากขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้ ได้ทดลองดำเนินการเปิดร้านซีพี เฟรชมาร์ทแล้วที่ประเทศเวียดนามและมาเลเซีย และอยู่ระหว่างศึกษาตลาดอีกหลายประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีก็จะเห็นความชัดเจน”