กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--ฐิติกร
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (TK146A และ TK165A) ของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 570 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถในการดำรงสถานะผู้นำตลาด การมีตลาดที่กระจายตัวทางภูมิศาสตร์ผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่นต่อเนื่อง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักเพียงประเภทเดียวคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รวมถึงการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตที่ยังคง “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและผลประกอบการทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งในปัจจุบันเอาไว้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและจากบรรยากาศการแข่งขัน โดยที่ระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคตด้วย
สินเชื่อรถจักรยานยนต์ของบริษัทฐิติกรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2555 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 7,558 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 16.5% จากระดับ ณ สิ้นปี 2554 สินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 7,841 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทสามารถดำรงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากว่า 30 ปีเมื่อพิจารณาจากจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่ บริษัทมีการกระจายฐานการตลาดในทางภูมิศาสตร์ที่เหนือกว่าคู่แข่งโดยให้บริหารผ่านสาขาที่ครอบคลุม 51 จังหวัด
ทั่วประเทศ จาก 45 จังหวัดในปี 2555 เครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ซึ่งมักเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน ตลอดจนเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง และระบบการบริหารงานและการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทที่จะดำรงสถานะผู้นำตลาดเอาไว้ให้ได้
สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 2551 โดยบริษัทเน้นให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่แทนรถยนต์มือสองที่เคยให้บริการในอดีต การแข่งขันที่รุนแรงและการมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงทำให้บริษัทตัดสินใจไม่ขยายสินเชื่อรถยนต์ในเชิงรุก เพียงแต่ดำรงธุรกิจเอาไว้เท่านั้นเพื่อรอโอกาสที่จะขยายตัวอีกครั้งเมื่ออัตราผลตอบแทนจากความเสี่ยงมีความน่าสนใจมากกว่านี้ โดยสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 1,551 ล้านบาทในปี 2555 จาก 1,471 ล้านบาทในปี 2554 สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,535 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 หรือคิดเป็น 16% ของสินเชื่อรวม ผลประกอบการของบริษัทฐิติกรยังคงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง
คุณภาพสินเชื่อของบริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 เช่นเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายอื่น ๆ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2554 จาก 3.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเน้นไปที่การจัดเก็บหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเหลือ 3.6% ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดอุทกภัย ผลจากการแข่งขันที่รุนแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำให้บริษัทต้องดำเนินนโยบายพิจารณาสินเชื่อในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อรักษาสถานะทางการตลาดไว้ ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้นได้
การผลิตรถจักรยานยนต์กลับคืนสู่ระดับปกติในปี 2555 หลังจากหยุดชะงักไปในปี 2554 จากเหตุการณ์อุทกภัย การเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์ใหม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการรถจักรยานยนต์มือสอง โดยราคารถจักรยานยนต์มือสองลดต่ำลง ทำให้ผลขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงาน รวมทั้งลดการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนมาได้ แม้ว่าผลขาดทุนต่อคันจากรถจักรยานยนต์ยึดคืนจะเพิ่มสูงขึ้น แต่บริษัทยังสามารถจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีศูนย์ปรับสภาพรถเป็นของตนเองก่อนที่จะนำออกประมูล
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.8% ในปี 2554 จาก 56.7% ในปี 2552 และ 49.2% ในปี 2553 อัตราส่วนดังกล่าวรักษาระดับอยู่ที่ 47.2% ในปี 2555 กำไรสุทธิของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 13.9% ในปี 2555 มาที่ระดับ 712 ล้านบาทในปี 2555 จาก 625 ล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 7.8% ในปี 2555 จาก 7.6% ในปี 2554 กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสแรกของปี 2556 อยู่ที่ 203 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 8.4% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)
แม้ว่าสินเชื่อของบริษัทจะขยายตัวค่อนข้างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ความสามารถในการทำกำไรที่สูงได้ช่วยรักษาฐานทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 40%-42% ในช่วงปี 2553-2555 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งนี้เอาไว้ได้ การมีฐานทุนที่แข็งแกร่งจะมีส่วนช่วยรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมากกว่า
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TK146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A-
TK165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 570 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable