กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารายได้สุทธิของรัฐบาลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — มิถุนายน 2556) จัดเก็บได้ 1,616,683 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 81,998 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 สาเหตุสำคัญมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ภาคครัวเรือน และผลประกอบการของภาคธุรกิจพลังงานที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังสูงกว่าเป้าหมาย 48,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 44,535 และ 6,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.7 และ 8.4 ตามลำดับ
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 181,377 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,644 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเช่นกัน ประกอบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ สืบเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ สะท้อนถึงอุปสงค์ในอุตสาหกรรมรถยนต์และรายได้ภาคครัวเรือนที่ว่าถึงแม้ชะลอตัวลงบ้างแต่ยังส่งผลบวกต่อรายได้ภาษีรัฐบาล
ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณที่สูงกว่าประมาณการ ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง
1. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — มิถุนายน 2556)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,616,683 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 81,998 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.9) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 48,598 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.9 ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 44,535 ล้านบาท และ 6,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.7 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,278,365 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 24,626ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 22,972 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.5) สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะฐานเงินเดือนและฐานเงินฝากที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 17,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.6 เนื่องจากผลประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมที่เติบโตดี (3) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 6,416 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.4 โดยเฉพาะภาษีที่เก็บจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 28.9 อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 23,227 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 แม้ว่าจะมียอดสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 10.0 สาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลให้การยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. ๕๐) ของภาคธุรกิจต่ำกว่าประมาณการ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 781 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.5) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 18,711 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 สืบเนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นช่วงหนึ่ง ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 17,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 จากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 336,449 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 24,665 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.4) สาเหตุสำคัญมาจาก (1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 31,411 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 62.0) (2) ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,385 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และ (3) ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 3,866 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 จากปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันและภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,366 และ 5,502 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.6 และ 12.0 ตามลำดับ
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 84,957 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 693 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.9) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 714 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.9) ซึ่งเป็นผลจากการที่มูลค่าการนำเข้าชะลอตัวลง ็็นผ็นผลจกโดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 — พฤษภาคม 2556) ขยายตัวเพียงร้อยละ 9.8 และร้อยละ 6.7 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 85,764 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 6,680 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.1) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ปตท นำส่งรายได้/เงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 3,793 2,471 และ 2,190 ล้านบาท ตามลำดับ
1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 127,394 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 44,535 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 49.5) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้สัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,088 ล้านบาท เป็นผลจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดไว้ กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 1,281 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ (1) รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) การเหลื่อมนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท เป็นต้น
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 225,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 18,972 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 177,795 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,379 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 47,468 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,593 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8
1.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินกันเพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในประเทศ จำนวน 11,722 และ 12,604 ล้านบาท ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการ 416 และ 450 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 และ 3.7 ตามลำดับ
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 6 งวด เป็นเงิน 46,657 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,023 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการและการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ (การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. จะอยู่บนฐานจัดเก็บสุทธิคือภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บหักการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
2. เดือนมิถุนายน 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 181,377 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,644 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.1) สาเหตุสำคัญมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,765 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.1 สืบเนื่องจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,078 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,570 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 จากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,961 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 สาเหตุสำคัญมาจากการชำระภาษีจากฐานกำไรสุทธิประจำปี 2555 (ภ.ง.ด. 50) ที่ใช้สิทธิจากโครงการให้ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ตซึ่งขยายเวลาให้ชำระได้ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2556 ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554
อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายนมีภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,331 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,223 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.8 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากฐานเงินเดือนและฐานเงินฝาก นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 806 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.4
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3544