กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
บทความ
รณรงค์เฝ้าระวัง...โคโรน่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 ระบาด
โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ
จากสถานการณ์และข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ ดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน และติดตามรูปแบบความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในผู้เดินทางที่กลับมาจากตะวันออกกลางและมีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน โดยสถานการณ์ล่าสุดตรวจพบผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2012 แล้ว รวม 77 ราย เสียชีวิต 42 ราย โดยพบรายงานผู้ป่วยทั้งหมด จาก 9 ประเทศ ดังนี้ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมนี และอิตาลี โดยส่วนมากพบผู้ป่วยในประเทศซาอุดิอาระเบีย วันนี้ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จะพาทุกคนไปรู้จักกับเจ้าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
เชื้อไวรัสโคโรนา ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ในตระกูล Coronaviridae ซึ่งประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยหลายชนิด สามารถทำให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ เช่น หนู สุนัข แมว กระต่าย ไก่ วัว กระบือ สุกร ขณะนี้ไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในคนที่รู้จักมี 6 ชนิด โดย 4 ชนิดทำให้เกิดโรคไข้หวัด และอีก 1 ชนิดทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ “โรคซาร์ส” ถึงแม้ว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะมีอาการแสดงคล้ายโรคซาร์ส (SARS-CoV) ที่เคยระบาดมาก่อน แต่เชื้อที่ทำให้ก่อโรคมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน จากการศึกษาทางพันธุวิทยาของเมอร์ส พบว่ามีความใกล้ชิดกับโคโรน่าไวรัสของค้างคาว แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปถึงวิธีการติดต่อ และแหล่งโรคได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากสัตว์ชนิดใด โดยพบว่าผู้ป่วยส่วนมากมีอาการป่วยหลังจากเดินทางกลับจากประเทศในตะวันออกกลาง โดยพบว่ามีการระบาดของเชื้อเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล บริเวณภาคตะวันออกของประเทศซาอุดิอาระเบีย ผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ได้แก่ ญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ห้องไตเทียม รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยด้วย และผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการแสดงที่รุนแรงมักจะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ไวรัสโคโรนาโดยทั่วไปพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตอบอุ่น มักพบในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ โดยจะพบได้ในทุกกลุ่มอายุ การติดต่อคล้ายกับโรคทางเดินหายใจ คือ ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ จากการไอหรือหายใจรดกัน หรือจากมือที่เปื้อนเชื้อโรคสัมผัสจมูกหรือตา ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-4 วัน ส่วนเชื้อก่อโรคซาร์สมีระยะฟักตัว 4-7 วัน (อาจนาน 10-14 วัน) หากไวรัสอยู่ภายนอกร่างกายจะสลายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง และถูกทำลายได้ด้วยสารซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด จากการศึกษาวิจัยพบว่า สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ทั้งระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ โดยพบว่าก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ถึงร้อยละ 35 มีอาการได้ตั้งแต่ ระดับน้อยเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา จนถึงระดับรุนแรง (โรคซาร์ส) ทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด ระบบการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเช่น มีไข้ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ หรือบางคนอาจจะมีอาการของปอดอักเสบ เช่น หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีระบบหายใจล้มเหลวได้ และยังสามารถพบการแสดงทางอวัยวะอื่นได้ เช่นจากรายงานของกลุ่มผู้ป่วยพบว่า มักมีอาการไตวายเฉียบพลัน ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อยังไม่ทราบแน่นอน แต่อยู่ในช่วงประมาณ 1-12 วัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานควบคุมโรคและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางให้สังเกตอาการภายในระยะเวลา 14 วัน สำหรับการวินิจฉัยโรคนอกจากอาการและประวัติดังกล่าวไว้ในข้างต้นแล้ว อาจจำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัย WHO และ CDC ให้คำแนะนำในการส่งสิ่งตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ด้วยการตรวจโดยวิธีทางชีวะพันธุ์กรรมของไวรัส (Real-time reverse-transcriptase polymerase chain reaction, rRT-PCR) โดยใช้เก็บสิ่งส่งตรวจจากบริเวณต่างๆ ดังต่อไปนี้ เสมหะ จากทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น การดูดสารคัดหลั่งจากหลอดลม (Tracheal aspiration) น้ำล้างถุงลมและหลอดลมฝอย (Bronchoalveolar lavage fluid) เสมหะทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น การป้ายเก็บสิ่งส่งตรวจจากโพรงจมูกและคอ (Nasopharyngeal and throat swab) การดูดสารคัดหลังจากช่องโพรงจมูก (Nasopharyngeal aspiration) โดยส่งตรวจหาเชื้อโดยวิธี อุจจาระในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย เลือด น้ำเหลือง ซึ่งใช้เป็นตัวช่วยเสริม แต่ยังไม่ทราบความแม่นยำในการวินิจฉัย การส่งตรวจโดยเก็บตัวอย่างจากตำแหน่งที่แตกต่างกันในผู้ป่วยหนึ่งรายจะช่วยเพิ่มความไวในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น การเก็บเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในเลือด (Serology testing) โดยเก็บในช่วงที่เป็นในระยะเริ่มแรก และหลังจากมีอาการแล้วอย่างน้อย 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่ต้องพิจารณาส่งตรวจด้วยวิธีดังกล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงทางระบบทางเดินหายใจ คือมีไข้มากกว่า 38 ?C ไอ สงสัยมีปอดอักเสบ รวมทั้งภาพรังสีปอดมีความผิดปกติ และมีประวัติเดินทางหรือท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาระเบียและประเทศใกล้เคียง ภายในระยะเวลา 14 วัน และไม่สามารถอธิบายสาเหตุอาการป่วยของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่มีประวัตสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการที่เดินทางไปในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางภายใน 14 วันหลังจากท่องเที่ยวในประเทศดังกล่าว หรือผู้ที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ภายในระยะเวลา 14 วัน หลังจากเดินทางกลับมาจากกลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาระเบีย (ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ เยเมน โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต อิรัก อิสราเอล ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน ) โดยที่จำเป็นต้องแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย
อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้นได้โดย การหลีกเลี่ยงผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ เช่น ผู้ที่มีไข้ ไอ น้ำมูก หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด หรือที่สาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของโรคทางเดินหายใจ ควรล้างมือบ่อยครั้งด้วยน้ำและสบู่ เนื่องจากเชื้อพบได้ทั้งในอากาศ น้ำมูก และเสมหะ ซึ่งอาจปนเปื้อนที่มือของผู้ที่ติดเชื้อแล้วไปจับสิ่งของหรือวัตถุทั่วไป เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ควรใช้ช้อนกลาง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับปศุสัตว์มีชีวิต หรือ สัตว์ป่า ในกรณีที่เดินทางไปในประเทศในตะวันออกกลาง และจากข้อมูลปัจจุบันขอให้คนไทยอย่าตื่นตระหนกหรือเครียดกับโรคนี้จนเกินไปเนื่องจากแนวโน้มการระบาดมาประเทศไทยยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล อย่างไรก็ตามขอให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลการป้องกันและดูแลรักษาเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันตนเองและครอบครัว