กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจและแนวทางในการทำงานที่จะ พัฒนาบ้านให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เห็นได้จากการนำแนวความคิดในด้านความสะดวก ความปลอดภัยและลดภาระการดูแลรักษาบ้าน มาเป็นมาตรฐานของบ้าน ภายใต้แนวความคิด “บ้านสบาย” ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ต่อเนื่องด้วยบ้านสบายสร้างเสร็จก่อนขาย จวบจนกระทั่งการออกแบบบ้านให้ดูแลง่าย และมีรูปลักษณ์ที่สวยงามทันสมัยในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงพัฒนาบ้านให้มีคุณภาพโดยการทำวิจัย เก็บข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งาน ปัญหาจากการใช้งาน และผลการตอบรับต่อสิ่งที่นำมาใช้ในบ้านจากมุมมองของผู้อยู่อาศัย สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจจากพฤติกรรมการอยู่อาศัยและวิถีการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันคือ การใช้เวลาอยู่ที่บ้านได้น้อยลงในวันทำงาน ดังนั้น ความสะดวกสบาย และคุณภาพชีวิตที่ดีในการอยู่อาศัยจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี AirPlus
ในปีนี้ ภายใต้ “LH SMART แนวคิดเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ขอแนะนำ “เทคโนโลยี AirPlus* ที่ทำให้บ้านหายใจได้” ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายเทอากาศภายในบ้านให้เกิดภาวะสบาย แม้ว่าบ้านของ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะได้รับการออกแบบมาให้อยู่ในสภาพแวดล้อมของโครงการที่ร่มรื่น มีสวนส่วนกลางขนาดใหญ่ จัดสวนให้มีต้นไม้เพื่อสร้างอากาศที่ดีสำหรับลูกบ้านแล้ว แต่การนำเอาอากาศใหม่เข้ามาในบ้านเป็นเป้าหมายที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับลูกบ้าน “ระบบ AirPlus” คือนวัตกรรมที่แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 5 ปี อาศัยแนวคิดหลักในการนำองค์ความรู้จากบ้านไทยในอดีตมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยในแบบบ้านปัจจุบัน มีการใช้พลังงานสะอาด คือ ในระบบใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยกำหนดแนวความคิดของ “ระบบ AirPlus” ไว้ดังนี้ 1. Smart and convenient (สะดวกสบายด้วยระบบอัตโนมัติ) 2. Continuous ventilation (ถ่ายเทอากาศอย่างต่อเนื่อง) 3. Easy maintenance and long lifetime (ดูแลรักษาง่ายและอายุการใช้งานยาวนาน) 4. Solar energy (ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก) 5. Adapt to modern life style (เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่) 6. Live-in with good nature (ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี) โดยร่วมกับ ศ. ดร.โจเซฟ เคดารี นักวิชาการ และผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และทีมงาน ผู้มีความชำนาญในเรื่องของวัสดุและพลังงาน มีผลงานทางด้านวิชาการมากมายทั้งในระดับสากล และในประเทศไทย เพื่อมาช่วยพัฒนาระบบดังกล่าว
มาตรฐานในการระบายอากาศในต่างประเทศ มีข้อกำหนดในกฏหมายการออกแบบอาคารว่าต้องออกแบบให้มีการถ่ายเทอากาศออกสู่ภายนอก และนำอากาศใหม่เข้ามาให้ได้อย่างน้อย ชั่วโมงละ0.50 ของปริมาตรห้องนั้นๆ ในกรณีที่ห้องถูกปิดไว้ตลอดเวลา (เปิดเครื่องปรับอากาศ ก็คือการปิดห้องเอาไว้ตลอดเวลา) สำหรับเมืองไทยก็มีกฏหมายกำหนดเอาไว้เช่นกัน แต่จะเน้นไปที่อาคารสาธารณะเป็นส่วนใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ จากการศึกษาวิจัยข้อมูลในเรื่องของคุณภาพของอากาศในห้องนอน ทางแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พบว่าห้องนอนที่มีผู้ใช้ 2 คนขึ้นไป ปริมาณของ คาร์บอนไดออกไซด์ จะสะสมจนเกินระดับ 1,200 ppm ซึ่งเกินจากมาตรฐาน ASHRAE* ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 1,000 ppm นั่นหมายความว่าคุณภาพของอากาศในห้องนอนทั่วไปนั้นยังไม่ดีพอตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ความชื้นก็ยังมีการสะสมอยู่ตลอดเวลา ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากการไม่มีการถ่ายเทอากาศเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ที่คนยังรู้สึกเย็นสบายเพราะระดับอุณภูมิและความชื้นที่ถูกควบคุมเท่านั้น แต่อากาศเก่ายังคงสะสมอยู่ในห้องต่อไป ดังนั้น เมื่อมีระบบ AirPlus อากาศใหม่จึงไหลเวียนอยู่เสมอ ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหากลิ่นอับชื้น บ้านที่หายใจได้จึงมีแต่ความสดชื่นตลอดเวลา
บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะมุ่งมั่นพัฒนาบ้านให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น ภายใต้ “LH SMART แนวคิดเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ซึ่ง “เทคโนโลยี AirPlus บ้านหายใจได้” นับเป็นแนวคิดแรก ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบถ่ายเทอากาศที่ช่วยให้อากาศใหม่หมุนเวียนภายในบ้านอัตโนมัติ ด้วยวิธีธรรมชาติตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น
*AirPlus ได้ทำการจดสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 0601006065
*AirPlus ได้รับรางวัลชมเชย ด้านพลังงานสร้างสรรค์ปี 2556 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน (ไม่มีผู้ได้รับรางวัลดีเด่น)
*ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers) เป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบทำความร้อน ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็นประกอบอาคาร (HVAC&R) เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติและเป็นการพัฒนาโลกที่ยั่งยืน ผ่านการวิจัย มาตรฐานในการเขียนแบบ ออกตีพิมพ์และศึกษาอย่างต่อเนื่อง