กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเดินหน้าแผนส่งเสริมลงทุนไทยในต่างประเทศ เตรียมขยายความร่วมมือกับ 6 ชาติอาเซียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือส่งเสริมนักธุรกิจจากไทย ประเดิมจับมือเมียนมาร์ จัดเวิร์กช็อปให้ข้อมูลส่งเสริมการลงทุน พร้อมเผยแผนจัดตั้งหน่วยส่งเสริมการลงทุนเคลื่อนที่ หรือ โมบาย ยูนิต ในเมียนมาร์ เวียดนาม อินโดนีเซียฯ ในเดือนสิงหาคมนี้ เผยมีธุรกิจไทยไปลงทุนนอกบ้านแล้ว 86 บริษัท
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงแผนส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ว่า บีโอไออยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนการลงทุนตามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันให้มีผลในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนับสนุนการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี จัดโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการร่วมกัน เป็นต้น
โดยบีโอไอจะจัดกิจกรรมนำร่องความร่วมมือดังกล่าวด้วยการจับมือกับประเทศเมียนมาร์ จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยและเมียนมาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันภายในเดือนกันยายน 25556 นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่บีโอไอของเมียนมาร์นำสิ่งที่ได้จากกิจกรรมดังกล่าว ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการนักลงทุนจากประเทศไทยได้ต่อไป
นอกจากนี้บีโอไอ ยังจะเดินหน้าประสานความร่วมมือกับพันธมิตรจากหน่วยงานภาคเอกชนของไทย อาทิ ธนาคารพาณิชย์ สมาคมผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และสภาหอการค้าไทย เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรม รวมถึงข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในกลุ่มประเทศเป้าหมาย
นายโชคดีกล่าวด้วยว่า บีโอไอ จะจัดให้มี “หน่วยส่งเสริมการลงทุนเคลื่อนที่” โดยจะจัดหาบริษัท ที่ปรึกษามาร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่บีโอไอ เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง แก่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุน ในประเทศเป้าหมาย 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2556
ด้านนางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ กล่าวว่า หลังจากที่บีโอไอได้เปิด “ศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thailand Overseas Investment Centerหรือ TOI Center) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางด้านข้อมูลเชิงลึก และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ และให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีนักธุรกิจไทยสนใจขอรับข้อมูล และขอคำปรึกษาถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมากหลายร้อยบริษัท กลุ่มที่สนใจสอบถามข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก บริษัทผลิตหนังเทียม บริษัทผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอาหารแปรรูป เป็นต้น
ล่าสุด มีนักธุรกิจไทยที่สนใจ และแจ้งถึงการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศเมียนมาร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม แล้วรวมจำนวน 86 บริษัท โดยมีผู้ประกอบการจำนวน 41 บริษัทได้เข้าไปลงทุนแล้ว ขณะที่มีผู้คาดว่าจะไปลงทุนภายใน 1 ปีจากนี้ จำนวน 11 บริษัท บริษัทที่คาดว่าจะเข้าไปลงทุนภายใน 2 ปี จำนวน 20 บริษัท บริษัทที่คาดว่าจะเข้าไปลงทุนภายใน 3 ปี จำนวน 9 บริษัท และมี 5 บริษัทที่คาดว่าจะไปลงทุนภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังโครงการของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในกลุ่มประเทศแอฟริกาแล้ว ได้แก่ โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ประเทศไนจีเรีย โครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรที่ประเทศเคนยา และกิจการโรงแรมที่มาดากัสกา เป็นต้น
สำหรับแผนงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในปี 2556 — 2557 นั้น บีโอไอจะจัดกิจกรรมพาคณะนักลงทุนไทยไปสำรวจลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศประมาณ 20 ครั้งใน 3 กลุ่มประเทศ ได้แก่ 1.กลุ่มประเทศเป้าหมายหลัก คือ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ เวียดนาม กัมพูชา กลุ่มที่สอง จีน อินเดีย และชาติอาเซียนอื่นๆ และกลุ่มที่สาม กลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ เอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศในแอฟริกา โดยนักธุรกิจไทยที่จะไปกับคณะมีทั้งกลุ่มที่อยากไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และกลุ่มที่จำเป็นจะต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 2.อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4. อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน
สำหรับการลงทุนของนักธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย การลงทุนในเมียนมาร์ ปี 2531-2556 มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 9,979.4 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ ในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน เกษตรแปรรูป การลงทุนในกัมพูชา ปี 2537 - 2556 มูลค่าประมาณ 867 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า โรงสีข้าว การลงทุนในลาว ปี 2543 — 2554 มูลค่าประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนในเวียดนาม ระหว่างปี 2531 — 2555 มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อาทิ เกษตรแปรรูป