Smart Farmer เกษตรกรยุคใหม่ เข้าใจวิถีเกษตรรอบด้าน

ข่าวทั่วไป Thursday July 18, 2013 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กรมพัฒนาที่ดิน Smart Farmer/Smart Officer หรือ เกษตรปราดเปรื่อง ซึ่งเป็นเกษตรกรเป้าหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผลผลิตหนึ่งของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องร่วมดำเนินงานตามภารกิจหลัก ก่อให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรเป้าหมาย เป็นSmart Farmerให้ได้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดบนเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและทำให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองด้วย ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะเป็นยุคที่มีการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น ตลาดสินค้าเกษตรก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คาดว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงจนอาจจะทำให้เกษตรกรไทยต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้วางกลยุทธ์เชิงรุกโดยมอบนโยบายSmartFarmer /Smart Officer หรือ เกษตรปราดเปรื่อง แก่หน่วยงานในสังกัดให้ไปดำเนินการ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้ขานรับนโยบายเชิงรุกนี้ ดำเนินโครงการ เกษตรปราดเปรื่อง Smart Farmer ซึ่งจะเป็นวิถีแห่งเกษตรกรยุคใหม่ โดยมี Smart Officerคอยให้คำปรึกษา Smart Farmerนั้น นอกจากจะมีความชำนาญในอาชีพของตนแล้ว ยังต้องมีความรอบรู้ด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีในการค้นคว้าหาข้อมูล ใช้เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่กับเกษตรกรหรือระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และที่สำคัญคือ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรรายอื่นๆได้ด้วย นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในระยะเริ่มต้น กรมพัฒนาที่ดิน ได้คัดเลือกเกษตรกรที่เป็นหมอดินอาสา จำนวน 78,000 ราย เกษตรกรรุ่นใหม่ 7,380 ราย เกษตรกรผู้บริหารโรงปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน จำนวน 668 ราย และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อที่จะร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ในการเผยแพร่องค์ความรู้ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับเกษตรกรที่จะเป็น Smart Farmer จะต้องเป็นผู้ที่มีความสุข ความพึงพอใจในการประกอบอาชีพการเกษตร รักและหวงแหนพื้นที่ทำการเกษตรไว้ให้รุ่นต่อไป อีกทั้งสามารถเป็นต้นแบบ เป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือให้คำแนะนำปรึกษากับผู้อื่นได้ นอกจากนี้ต้องเข้าถึงแหล่งข้อมูล ทั้งจากเจ้าหน้าที่ หรือผ่านทางระบบสารสนเทศ และการสื่อสารอื่นๆ เช่น Internet Mobile Phone ได้ รวมทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตร สามารถเลี้ยงครอบครัวได้และที่สำคัญต้องมีการผลิตตามระบบGAPหรือเกษตรอินทรีย์ มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย “ ในส่วนของการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer นั้น กรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาต่อยอด จากโครงการหมอดินอาสาที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เพราะมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เพราะหมอดินอาสา สามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดจุดการเรียนรู้ หรือศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ในพื้นที่นั้นๆด้วย ในอนาคตอยากเห็นเครือข่ายนี้เข้มแข็งมากขึ้นและองค์ความรู้ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้หากมีองค์ความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจก็จะพา Smart Farmer เหล่านี้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมด้วย ” อธิบดีกล่าว การขับเคลื่อนนโยบายสร้างเกษตรกรให้ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer จะประสบผลสำเร็จตามหมุดหมายที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรในกรมพัฒนาที่ดิน ทำหน้าที่ส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆส่งไปยังเกษตรกรเพื่อให้เข้าสู่เวทีการแข่งขันอย่างภาคภูมิ นอกจากนี้เกษตรกรเองอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบดั้งเดิมที่เน้นการตั้งรับ มาเป็นเกษตรกรเชิงรุกอย่าง Smart Farmer ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทย ไม่ตกขบวนรถไฟสายเกษตรเศรษฐกิจนี้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ