กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กรมป่าไม้
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ เดินสายชี้แจงภารกิจหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติป่าภูโหล่นให้กับชุมชนและประชาชนทุกเครือข่าย ตลอดจนร่วมรับฟังความคิดเห็นในการจัดตั้งป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ และนำร่องเปิดสำนักงานป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ตามที่กรมป่าไม้ ได้กำหนดแนวทางการจัดการป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ โดยให้มี “หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ” เป็นผู้แทนกรมป่าไม้ในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการร่วมมือกันวางแผนจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยในชุดแรกได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ จากทั่วประเทศ จำนวน 103 คน จำนวน 111 ป่า จากจำนวนป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 1,221 ป่า โดยกำหนดให้มีหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติขึ้นมา รับผิดชอบทุกอย่างในพื้นที่ตัวเอง จะเป็นบุคลากรที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่คอยประสานงานเพื่อวางแผนอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับราษฎร ทำหน้าที่ด้านการป้องกันพื้นที่โดยการมีส่วนร่วมกับประชาชน สำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าที่ดูแลรับผิดชอบเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ด้านการควบคุมพื้นที่ในกรณีที่ป่าไม่สมบูรณ์ ต้องมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และสุดท้ายทำหน้าที่ด้านการฟื้นฟูป่า โดยการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าทั้งแปลง ปลูกเพื่อเป็นแนวกันชนควบคุมพื้นที่ราษฎรครอบครองทำประโยชน์ มิให้มีการบุกรุกเพิ่ม
สำหรับป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ที่จะเป็นการจัดการจัดป่าสงวนแห่งชาติต้นแบบให้กับป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่หลากหลาย เช่น ไม้พะยูง ไม้พยอม ไม้รัง และไม้ที่มีค่าชนิดอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญเป็นพื้นที่ป่ากันคืนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ประมาณ 35,000 ไร่ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงคัดเลือกป่าแห่งนี้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการในรูปแบบหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ
นายบุญชอบ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในรูปแบบหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาตินี้ ถือเป็นรูปแบบใหม่ ที่กรมป่าไม้ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานโดยให้หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในภารกิจต่างๆ อาทิ การป้องกันรักษาป่า การเพาะชำกล้าไม้ การดูแลรักษาป่าในรูปแบบป่าชุมชน ตลอดจนงานบริการและวิชาการต่างๆ ของกรมป่าไม้ เพื่อบูรณาการในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และชุมชนในท้องถิ่น ทั้งนี้มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 2-3 ปีข้างหน้ารูปแบบการจัดการป่าสงวนน่าจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และขยายให้ครอบคลุมทั้ง 1,221 ป่าทั่วประเทศในอนาคต