กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET ที่ ‘AA(tha)’ และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS และบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่ ‘AA-(tha)’ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง ที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต — อันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง สะท้อนถึงการที่ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่บริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ของกลุ่ม ซึ่งได้แก่ Malayan Banking Berhad หรือ Maybank (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘A-’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) หรือ KBank (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’/ อันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+’/ อันดับเครดิตภายในประเทศที่ ‘AA(tha)’/ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)
MBKET มีบทบาทที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ในการส่งเสริมการให้บริการอย่างครบวงจรของกลุ่ม Maybank (Universal banking model) โดยธนาคารแม่ก็มีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย MBKET ได้ประโยชน์จากการใช้ชื่อ Maybank เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท นอกจากนั้นยังมีตัวแทนจากธนาคารแม่เป็นคณะกรรมการบริษัท และมีการใช้นโยบายการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่ม Maybank เช่น การบริหารจัดการความเสี่ยง การกำกับและตรวจสอบ ในปัจจุบัน กลุ่ม Maybank ถือหุ้น 83.5%ใน MBKET
อันดับเครดิตของ KS และ SCBS สะท้อนถึงการถือหุ้นทั้งหมด การควบคุมและการสนับสนุนจากธนาคารแม่ของแต่ละบริษัทคือ KBank และ SCB บริษัททั้ง 2 แห่งถือว่ามีความสำคัญทางกลยุทธ์กับธนาคารแม่ทั้ง 2 แห่ง ภายใต้การให้บริการครบวงจรของธนาคาร การที่อันดับเครดิตของบริษัทลูกอยู่ต่ำกว่าธนาคารแม่อยู่ 1 อันดับเนื่องจากบริษัทลูกมีขนาดเล็กและมีผลกำไรที่ค่อนข้างน้อย และคิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับผลกำไรของกลุ่ม
MBKET ยังคงรักษาการเป็นผู้นำในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในประเทศโดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 12.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ธนาคารแม่ของบริษัท หรือ Maybank นั้นมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ KS มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับ 3 ที่ 5.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยส่วนหนึ่งของของมูลค่าการซื้อขายดังกล่าวรวมสัดส่วนของ บล.แมคคลอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ KS SCBS มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 3.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 (อันดับ 15) SCB และ KBank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 และอันดับ 4 ของประเทศในด้านขนาดสินทรัพย์
กำไรของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง ปี 2556 น่าจะอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 61 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นจาก 32 พันล้านบาทในปี 2555 และ 29 พันล้านบาทในปี 2554 อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานในอนาคตของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่งยังคงผันผวน เนื่องจากการพึ่งพารายได้จากการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นรายได้หลัก อีกทั้งมูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเงินลงทุนจากต่างประเทศ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตภายในประเทศ
การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของธนาคารแม่น่าจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตของบริษัทลูก การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของความสามารถในการให้การสนับสนุน และระดับการให้การสนับสนุนของธนาคารแม่ (รวมไปถึงการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น) ต่อบริษัทลูก อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทลูกถูกปรับลง ในทางกลับกันการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของขนาดสินทรัพย์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้และสัดส่วนการทำกำไรเทียบกับกำไรของกลุ่ม อาจส่งผลให้ความแตกต่างของอันดับเครดิตระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกปรับลดลง อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากขนาดของธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงมีขนาดเล็กกว่าอุตสาหกรรมธนาคารอยู่มาก