กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
โพลล์สำรวจพฤติกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาของปชช.คนกรุงเทพฯ
ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการและดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาของประชาชนชาวกรุงเทพฯตามโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา
สำนักวิจัยสยามอินเตอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มสำรวจชาวกรุงเทพฯอายุ 18 ปีขึ้นไปไม่จำกัดวุฒิ จำนวน 1,046 คน ในลักษณะการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling)
ผลสำรวจนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ สืบเนื่องจากวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นวันเข้าพรรษา ชีวิตคนไทยมากกว่าร้อยละ 90 ที่นับถือศาสนาพุทธ จะนับวันสำคัญวันนี้เป็นฤกษ์ดีในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม กล่าวคือ การถือศีล การลด ละ เลิก อบายมุข สิ่งมึนเมา หรือแม้แต่การให้บุตรหลานได้บวชเรียน ประเทศไทย ได้ดำเนินการโครงการหนึ่งที่อยู่คู่กับช่วงเข้าพรรษามาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้วคือ โครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” โดยการรณรงค์ให้คนไทยลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะสุรา ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งกับตนเองและ/หรือส่วนรวม
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยจำนวนกว่า 16 ล้านคน ที่ดื่มสุราหรือคิดเป็นประมาณถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศ โดยปริมาณเฉลี่ยสูงถึง 58 ลิตร/คน/ปี สูญเสียรายได้ต่อปีสูงถึง 187,000 ล้านบาท และสูญเสียต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจปีละ 5 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก คนไทยจัดว่าเป็นนักดื่มอันดับต้นๆ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมต่างๆ ที่ตามมาอย่างมากมาย นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 156,105 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 1.97 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สูงกว่ารายได้จากภาษีที่รัฐเก็บจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งได้รับเพียงปีละ 80,000 ล้านบาท คนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละกว่า 26,000 คน หรือโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจึงริเริ่มโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี โดยมีผู้เริ่มตระหนักในการงดเหล้าช่วงเข้าพรรษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนพอสมควรที่ยังไม่สามารถลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาได้อย่างจริงจัง
ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า สรุปผลสำรวจกลุ่มจากตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉลี่ย 1 ถึง 3 ครั้งต่อเดือน ขณะที่ ร้อยละ 24.47 ดื่มเป็นบางโอกาส เช่น เข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ติดจนเลิกดื่มไม่ได้/ความเคยชิน คิดเป็นร้อยละ 81.45 ลดความเครียดหรือความเหงา คิดเป็นร้อยละ 77.44 คนรอบข้างหรือคนใกล้ชิดดื่ม คิดเป็นร้อยละ 75.62 หาซื้อได้ง่าย คิดเป็นร้อยละ 72.54 และผ่อนคลาย/ทำให้นอนหลับง่าย คิดเป็นร้อยละ 68.26
ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 68.07 ตระหนักถึงผลเสียจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 65.97 ระบุว่า กำหนดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 63.19 ยอมรับว่า ตนเองเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่กำหนด และ ร้อยละ 63.58 ยอมรับว่า เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดอาการเมา สำหรับความตั้งใจในการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา ปี พ.ศ. 2556 นี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.7 ระบุว่าตั้งใจจะงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นี้ ขณะที่ ร้อยละ 30.21 ระบุว่าจะลดปริมาณการดื่มลง แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.73 ระบุว่าจะดื่มเป็นปกติ ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจงดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลง 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ ความตั้งใจของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 91.46 บุคคลในครอบครัว/บุคคลใกล้ชิดขอร้อง และเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 90.13 และ 89.10 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.43 ระบุว่า โครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” มีส่วนทำให้ตัดสินใจงดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา พ.ศ. 2556 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 62.59 ระบุว่า หลังจากออกพรรษาในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556 นี้ ตนเองจะกลับมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปกติที่เคยดื่มก่อนช่วงเข้าพรรษา