SET9: ตลท.พร้อมดีเดย์ 1 ตุลาคมตั้งสถาบันกรรมการบริษัทผลักดันแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบจ.

ข่าวทั่วไป Monday October 4, 1999 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--4 ต.ค.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์เร่งเสริมสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เน้นเพิ่มความเที่ยงตรง โปร่งใส และ ความน่าเชื่อถือ ในการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน หลังตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี กำหนดหลักการและข้อพึงปฎิบัติให้บริษัทจดทะเบียนปรับไปสู่การมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีพร้อมเปิดตัวสถาบันกรรมการบริษัทเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพผู้บริหารบริษัท ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ 1 ตุลาคมนี้
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินความพยายามที่จะพัฒนาตลาดทุนเพื่อแข่งขันกับตลาดในภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีการบริหารงานที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ เป็นธรรมกับผู้ลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุนในตลาดทุนไทยที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยกำหนดให้บริษัทต้องจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee)ภายในสิ้นปี 2542 รวมทั้ง พร้อมมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
"และเพื่อให้การดำเนินงานในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น โดยมี นายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาคเอกชนชั้นนำหลายแห่งทำหน้าที่ยกร่างหลักการ และข้อพึงปฎิบัติเป็นกรอบให้บริษัทจดทะเบียน และ บริษัทอื่น ๆ ที่มีลักษณะการบริหารงานอย่างเอกชนได้ยึดถือ และสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัท เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารและกรรมการบริษัท ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เพื่อผลักดันการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ให้ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น และ จากการประชุมเมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณากรอบหลักการและข้อพึงปฎิบัติเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าขั้นสำคัญอีกขั้นหนึ่ง" นายวิชรัตน์กล่าว
นายชวลิต ธนะชานันท์ ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เปิดเผยในรายละเอียดว่า ในการยกร่างหลักการและข้อพึงปฎิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี คณะอนุกรรมการยึดหลักการความโปร่งใส ความเที่ยงตรง ความน่าเชื่อถือ โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมในประเทศไทย จึงได้จัดสำรวจความคิดเห็นของกรรมการที่เป็นผู้บริหาร และกรรมการภายนอกของบริษัทจดทะเบียน ในเรื่องการควบคุมและดูแลกิจการในประเทศไทย เมื่อเดือน ก.ค.2542 และศึกษาแนวคิด ข้อเสนอแนะของหน่วยงานในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อให้หลักการที่ได้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายในประเทศ สามารถพัฒนาสู่มาตรฐานสากล โดยอย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศในแถบภูมิภาคนี้
"จากผลการสำรวจพบว่ากรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนมีความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากกว่าที่คาดไว้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการตรวจสอบ ในระดับดีพอสมควร ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนี้ยังเห็นว่าระบบการกำกับดูแลกิจการจำเป็นต้องปรับปรุงในหลายด้าน อาทิเช่น โครงสร้างและลักษณะของการควบคุมและตรวจสอบภายในบทบาทความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ความหมายของความเป็นอิสระบทบาทของกรรมการภายนอกการเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีให้เหมาะสมยิ่งขึ้นการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นต้น" ประธานกล่าว
สำหรับร่างหลักการและข้อพึงปฎิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่คณะอนุกรรมการ ฯ กำหนดขึ้นนั้น ประกอบด้วยหลักการและข้อพึงปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบ บทบาทหน้าที่ และความเป็นอิสระของกรรมการภายนอก การจัดระบบการควบคุมและตรวจสอบภายใน สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งจรรยาบรรณทางธุรกิจของผู้บริหาร พนักงาน และ เจ้าของกิจการ
นายชวลิต กล่าวเสริมว่า รายละเอียดของหลักการและข้อพึงปฎิบัติแต่ละข้อ เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะนำไปรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสมในการปฎิบัติที่สุด ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์พิจารณาอนุมัติ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้บริษัทปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ในช่วงเริ่มต้นควรเปิดให้เป็นไปตามความสมัครใจ หลังจากนั้นจึงพิจารณาทบทวนว่าควรกำหนดให้ปฏิบัติตามอย่างไรต่อไป
สำหรับการพัฒนาคุณภาพของกรรมการบริษัท ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะผลักดันให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้น สถาบันกรรมการบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์สนับสนุนให้มีการจัดตั้งขึ้น จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานดังกล่าวจะเปิดทำการในวันศุกร์ที่ 1 ต.ค. ศกนี้ โดยมีนายชาญชัย จารุวัสตร์ เป็นเลขาธิการ
สำหรับเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของสถาบันกรรมการบริษัทนั้น นายชาญชัย จารุวัสตร์ เลขาธิการสถาบันฯ เปิดเผยว่า ในระยะแรกสถาบันฯ จะเน้นการอบรมสัมมนาแก่สมาชิก โดยจะคัดเลือกกรรมการจากบริษัทจดทะเบียน หรือกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากบริษัทอื่น ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกของสถาบัน นอกจากนี้สถาบันยังจะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นระหว่างสมาชิก และให้บริการข้อมูลทางธุรกิจ โดยในที่สุด สถาบันดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวมกลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ที่บริษัทจดทะเบียนหรือกิจการอื่น ๆ สามารถเชิญไปร่วมเป็นกรรมการของบริษัทได้
โครงการอบรมสัมมนาของสถาบันฯ ครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกรรมการ เช่น บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท ความเข้าใจในเรื่องงบการเงิน รายงานผลการดำเนินงานของกิจการ ความรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการบริหารงาน ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีในธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการบริหารงาน เป็นต้น
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าตลาดหลักทรัพย์ได้สนับสนุนเงินทุนก่อตั้งสถาบันกรรมการบริษัทจำนวน 10 ล้านบาท และให้อนุเคราะห์พื้นที่ภายในอาคารตลาดหลักทรัพย์ (ชั้น 5) เป็นสถานที่ทำการของสถาบันฯ นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้รับเงินสนับสนุนอีก 7 ล้านบาท จากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ กลต. มูลนิธิกองทุนพัฒนาระบบตลาดทุน และ จากธนาคารโลกอีก เป็นจำนวน 320,000 เหรียญ ในลักษณะ Technical Assistance
นายวิชรัตน์ กล่าวสรุปว่า "ตลาดหลักทรัพย์มุ่งหวังว่าแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ คณะอนุกรรมการยกร่างขึ้น และ การดำเนินงานของสถาบันกรรมการบริษัท จะช่วยผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน และบริษัทอื่น ๆ เร่งพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นซึ่งจะทำให้ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยมีความโปร่งใส เที่ยงธรรม และได้รับความเชื่อถือจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อันจะเอื้อให้เกิดความร่วมมือที่ดี ทั้งในแง่การระดมทุน และ การหาผู้ร่วมทุน ซึ่งบทบาทดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของภาคธุรกิจ ตลาดทุน และ เศรษฐกิจไทยได้อีกทางหนึ่ง (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ