กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จัดโครงการประกวดออกแบบสัญลักษณ์หุ่นยนต์สร้างบ้าน ภายใต้ชื่อ “MANA” (อ่านออกเสียงว่า “มาน่า”) หวังให้เป็นที่รับรู้ในระดับสากล และเป็นต้นแบบหุ่นยนต์สร้างบ้านตัวแรกของวงการธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้แทนแรงงานก่อสร้าง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจได้จริง ชิงเงินรางวัลมูลค่า 90,000 บาท
ดร.พัชรา ตัณฑยรรยง นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากความสำเร็จการจัดโครงการประกวดหุ่นยนต์สร้างบ้าน Home Builder Robot Contest 2013 และการจัดประกวดโครงการตั้งชื่อหุ่นยนต์สร้างบ้าน ซึ่งมีกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากหลายๆสถาบัน รวมทั้งประชาชนทั่วไปได้มีความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการดังกล่าว จึงได้จัดโครงการประกวดออกแบบสัญลักษณ์หุ่นยนต์สร้างบ้านที่มีชื่อเรียกว่า “MANA” อ่านออกเสียงว่า “มาน่า” ที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ของหุ่นยนต์สร้างบ้านที่จะถูกพัฒนาขึ้นและเป็นต้นแบบหุ่นยนต์สร้างบ้านตัวแรกของวงการธุรกิจรับสร้างบ้านในอนาคตต่อไป โดยเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานอัตโนมัติสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจได้จริง และสามารถทำงานแทนแรงงานก่อสร้างในธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง “ตราช้าง” ,โฮมบายเออร์ กรุ๊ป และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและโปรโมทชื่อของหุ่นยนต์สร้างบ้านของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านให้เป็นที่รับรู้ได้ในระดับสากล เพื่อต่อยอดและสนับสนุนโครงการประกวดหุ่นยนต์รับสร้างบ้าน Home Builder Robot Contest 2013 ตลอดจนเป็นการสร้างพื้นฐานของการจัดการแข่งขันเพื่อพัฒนาสู่การแข่งขันในระดับอาเซียนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านต้องการให้ประชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้านตัวแรกของวงการธุรกิจรับสร้าง และได้มีเวทีแสดงความรู้ ความสามารถ
กติกาและเงื่อนไขสำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ได้แก่ บุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา ระบุชื่อและประวัติของผู้แข่งขันโดยละเอียด ระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2556 และประกาศผลผู้ชนะเลิศในวันที่ 15 สิงหาคม 2556 และมอบรางวัลในงาน Home Builder Expo 2013 ซึ่งได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค. ศกนี้ ณ ห้องเพลนารี่ ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับชื่อหุ่นยนต์ “MANA” มีแนวคิดที่มาและความหมาย คือ ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ใช้หุ่นยนต์สร้างบ้านเปรียบเสมือนผู้มี “MANA” หรือเวทมนต์ที่ช่วยทุ่นแรงสร้างสรรค์บ้านได้ตรงตามความต้องการและรวดเร็ว สร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจ “MANA” เป็นภาษาสากลสื่อความหมายถึงเวทมนต์หรือพลังเหนือธรรมชาติ บุคคลที่สามารถใช้ “MANA” จะเหมือนมีสิทธิพิเศษเหนือบุคคลอื่น ดุจมีเครื่องผ่อนแรงช่วยทำงานแทนคน สามารถทำงานที่บุคคลธรรมดาอาจจะไม่สามารถทำได้ ยกของที่หนักเกินแรงมนุษย์ สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว
อนึ่ง การออกเสียงจะคล้ายกับคำไทยที่แปลว่าความพยายาม อันเป็นคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคลากรที่ทำงานปลูกสร้างบ้าน
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การตัดสินของผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องอธิบายรายละเอียดถึงแนวคิด ความหมายของการออกแบบสัญลักษณ์ ที่มาของการออกแบบที่นำเสนอ ที่สอดคล้องกับแนวคิดและความหมายของหุ่นยนต์ “MANA” พร้อมกับให้คำอธิบายของการออกแบบสัญลักษณ์หุ่นยนต์สร้างบ้านได้อย่างชัดเจน โดดเด่น และสมเหตุสมผล
นอกจากนี้การออกแบบจะต้องสอดคล้องกับโลโก้ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยหุ่นยนต์ “MANA” จะ เป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจได้จริง ซึ่งจะได้มาจากการจัดแข่งขันหุ่นยนต์ตัวจริง ขึ้นเป็นปีแรก หุ่นยนต์ดังกล่าวถูกตั้งโจทย์ให้สามารถทดแทนแรงงานก่อสร้าง สามารถยกของหนักได้ เช่น ถุงปูน ถังใส่ทราย ถังใส่หิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปีต่อๆ ไปก็จะมีการพัฒนาให้มีความสามารถเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการสร้างบ้านที่ทันสมัย และนำไปสู่การพัฒนาการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้รางวัลสำหรับโครงการประกวดมีจำนวน 3 รางวัล มูลค่ารวมทั้งสิ้น 90,000 บาท โดยแบ่งเป็น รางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล ๆละ 50,000 บาท พร้อมประกาศเกียรติคุณจากสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และ รางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล ๆละ 20,000 บาท อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานการออกแบบสัญลักษณ์หุ่นยนต์สร้างบ้าน ได้ที่ทำการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เลขที่ 2 ซอยลาดปลาเค้า 10 ลาดพร้าว กทม. 10230 และดูรายละเอียดโครงการประกวดเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน www.hba-th.org และ http://www.facebook.com/homebuilderclub, https://www.facebook.com/HomeBuilderRobotContest โทร. 02-570-0153, 02-940-2744 โทรสาร 02-570-0154 และที่บริษัท พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค จำกัด โทร.02-937-4518-9 ผู้ประสานงานโครงการ