กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การปรับบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เมื่อเร็วๆนี้ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการผลักดันให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการไปสู่บทบาทการเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยเข้าไปมีส่วนในการเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจะต้องมีการปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรม ไปสู่การนำวัฒนธรรมมาพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม หรือทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในประเทศออกมาใช้ให้มากที่สุด
นางปริศนา กล่าวอีกว่า บทบาทหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมในอนาคต จะต้องขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์ประเทศ ทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเข้าไปส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมถือเป็นหน่วยงานต้นน้ำ โดยได้เร่งดำเนินการพัฒนาเมืองวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร และเวียงกุมกาม เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มเวลาในการพักผ่อนให้ยาวขึ้น และพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบริหารพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2. ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลระบบการบริหารและการจัดการภาครัฐ โดยเน้นการส่งเสริมการสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และแกนนำประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีทัศนคติที่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ ประชาชน ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมิติวัฒนธรรมมากขึ้น
และ3. ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคม โดยเน้นการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งจะเน้นการเชื่อมโยงกันระหว่างประชาชนสู่ประชาชน ผ่านมิติทางวัฒนธรรม และผสมผสานความแตกต่างของประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งของอาเซียน ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ พิธีกรรม ประเพณี ศาสนา รวมถึงจะต้องมีค่านิยมร่วมกันในกลุ่มอาเซียน โดยยึดหลักสากลทั้งการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิของชุมชนในการรักษาวัฒนธรรมที่เป็นบรรทัดฐาน การส่งเสริมวัฒนธรรมที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันของสันติสุข ตลอดจนการสร้างชุมชนวัฒนธรรมมีทั้งพื้นที่ทางกายภาพ หรือเป็นชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน มีความเชื่อทางศาสนาร่วมกัน มีชาติพันธุ์ร่วมกัน เป็นต้น