กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์
ในสังคมไทยปัจจุบันพบว่ามีอัตราการทำผิดกฎหมายของเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงวิธีการพิจารณาคดีโดยมุ่งเน้นการหาปัจจัยที่ทำให้เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ตัวเด็ก โดยการบำบัดฟื้นฟูเด็กมากกว่าการใช้วิธีการลงโทษ
ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จึงได้ร่วมกับ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กระทรวงยุติธรรม ดำเนินกิจกรรม “เสริมสร้างพลังใจเพื่อสังคม” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม CSR ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีของการให้บริการแก่ประชาชนของโรงพยาบาลมนารมย์
โดยกิจกรรม “เสริมสร้างพลังใจเพื่อสังคม” เป็นการอบรมให้ความรู้และการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่อง การฟื้นฟูสมรรถภาพทางใจของเด็ก เยาวชน และครอบครัว การแก้ปัญหาวัยรุ่น ภาวะสมองติดยา และ ทักษะการจัดกิจกรรมเชิงจิตวิทยา ให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเด็กที่เข้ารับการพิจารณาคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้แก่ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ และนักจิตวิทยา เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ในการดูแลบำบัดช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ให้กระทำความผิดซ้ำและกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้อีกครั้ง
นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่าการกระทำความผิดในเด็กและเยาวชนถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ เพราะการที่เด็กและเยาวชนก่อปัญหากระทำผิดตั้งแต่อายุยังน้อย หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นปัญหาและภาวะใหญ่ของสังคมในอนาคต
การจัดการอบรมให้ความรู้และสัมมนาภายใต้กิจกรรม “เสริมสร้างพลังใจเพื่อสังคม” จะมุ่งเน้นการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ “ปัญหาความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ” และ “การเจ็บป่วยทางสมอง” ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการกระทำผิดในเด็ก รวมทั้งความรู้ความเข้าใจ “ปัจจัยด้านจิตสังคม” ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ “ยาเสพติด” ความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการบำบัดรักษาเยียวยาไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และสามารถช่วยให้เยาวชนกลับไปเป็นคนดีของสังคมได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เปิดเผยว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของเด็กที่กระทำความผิดเกิดขึ้นมาจากสาเหตุความผิดปกติด้านจิตเวช ดังนั้นการที่ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ และนักจิตวิทยา สามารถมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในเชิงจิตเวชจึงมีความสำคัญ แม้จะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาเองทั้งหมดแต่ก็เป็นผู้คัดกรองเบื้องต้นเพื่อส่งเข้ารับการบำบัดต่อไป
“ศาลเยาวชนฯ และโรงพยาบาลมนารมย์จะร่วมมือกันในด้านองค์ความรู้เพื่อเข้าไปสนับสนุนระบบการให้คำปรึกษาที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพราะในปัจจุบันเรามีนักจิตวิทยาประจำศาลทั่วประเทศเพียง 50 คนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรับมือกับคดีเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นได้ การร่วมกันทำงานในครั้งนี้จะช่วยให้สามารถคัดกรองเด็กได้ดีขึ้น ระบุสาเหตุของการกระทำความผิดได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้นอันจะนำไปสู่การแก้ไขอย่างถูกวิธี เพราะการเข้าไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ด้วยการให้เด็กได้รับการบำบัดฟื้นฟูในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม จะทำให้อัตราการกระทำผิดซ้ำลดลงและเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการลงโทษ” ดร.จิรนิติ ระบุ
นอกจากนี้ในวาระครบรอบการดำเนินงาน 7 ปี โรงพยาบาลมนารมย์ ทางโรงพยาบาลฯ ยังได้ร่วมกับ องค์การสหประชาชาติ หรือ The United Nation (UN) จัดกิจกรรม “Vote for Better World” ในการเป็นองค์กรบริการด้านสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการ My World เพื่อชักชวนให้คนไทยมีส่วนร่วมในโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโลกที่ต้องการในอนาคต และโหวตเพิ่มในประเด็น “สุขภาพจิตดี” หรือ “Better Mental Health” เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติปี 2015 ได้มีการบรรจุกรอบการพัฒนาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน.