กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--เจซีแอนด์โค พับบลิครีเลชั่น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมภาคอุตสาหกรรม สู้ศึก AEC เดินหน้ายกระดับ SMEs ไทย เปิด 3 กลยุทธ์ สร้าง “ความรู้” สร้าง “ความพร้อม” และสร้าง “เครือข่าย” เพื่อสร้างเสถียรภาพการค้า / การลงทุนระหว่างประเทศของภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรมเชิงลึกเพื่อให้ความรู้เรื่องภาษีการนำเข้าของแต่ละประเทศ กฎระเบียบ ประเพณี และค่านิยม รวมทั้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างเครือข่ายในการประกอบกิจการ กับประเทศใกล้เคียง ฯลฯ พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งต้นทุนต่ำ ตลอดจนเร่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 2.6 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 99 % ของวิสาหกิจทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 1.75 ล้านล้านบาท และมีแรงงานถึง 10.5 ล้านคน หรือราว 77.9 % ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ทำให้ SMEs ไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ รวมทั้งเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ในบริบทของอาเซียน ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน โดยในปี 2010 มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถส่งออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมทั้งหมดของภูมิภาค ประมาณ 1.07 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) นับเป็นการรวมตัวในระดับภูมิภาค โดยใช้ฐานการผลิตร่วมกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียน มีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน อันจะส่งผลให้ตลาดของกลุ่มประเทศอาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว (Single Market) เพื่อสร้าง ความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันให้ภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ยั่งยืน หากพิจารณาภาพรวมของมูลค่าอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของภูมิภาคอาเซียน ในปี 2010 คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9.8 หมื่นล้านเหรียญ ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ประมาณ 6.2 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ประมาณ 4.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมทั้งหมดของภูมิภาค ประมาณ 1.07 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : ASEAN Trade Statistics Database) อย่างไรก็ตาม กลุ่มวิสาหกิจที่น่าจับตามองและเป็นกลุ่มที่มีการประกอบการมากที่สุด คือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ มีอัตราการจ้างงานกว่า 73 % จากจำนวนแรงงาน กว่า 300 ล้านคนในภูมิภาคดังนั้น SMEs จึงเป็นรากฐานสำคัญและเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้าง ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในภูมิภาค
นายโสภณ กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs ของไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดย SMEs ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่การเข้าถึงตลาดท้องถิ่นได้ดี มีทักษะในธุรกิจบริการและด้านศิลปะ เชี่ยวชาญในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แรงงานมีประสิทธิภาพสูง และตลาดของประเทศไทยค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่สามารถขยายตัวได้ในอนาคต นอกจากนี้ ไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ สามารถสร้างรายได้นำเงินตราเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน จึงทำให้ได้เปรียบต่อการคมนาคมทั้งทางรถไฟ ทางอากาศ ทางถนน และทางเรือ แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของ SMEs ไทยในอาเซียน ยังเป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งสิ่งที่ไทย ควรต้องปรับปรุง อาทิ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานของไทยในปัจจุบันค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และเวียดนาม ทำให้ต้นทุนในภาคการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น เราจึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อลดต้นทุนและลดอัตราการสูญเปล่าในกระบวนการผลิต เพื่อชดเชยกับต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการส่งเสริมพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับ SMEs ในประเทศไทย จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ AEC ในปี 2558 อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยางพารา และอัญมณี ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของกลุ่ม SMEs ดังนั้น กรมฯ จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ กลุ่ม SMEs นับเป็นกลุ่มวิสาหกิจส่วนใหญ่ของไทย โดยมีจำนวนมากกว่า 99 % ของธุรกิจทั้งหมด โดยใน ปี 2553 มีจำนวนกิจการ SMEs ทั้งหมด 2.6 ล้านราย มีมูลค่าการส่งออก 1.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 28.4% ของมูลค่าการส่งออกรวม และมีมูลค้านำเข้า 1.77 ล้านบาท คิดเป็น 30.4% ของมูลค่านำเข้ารวม โดยมีแรงงานถึง 10.5 ล้านคน หรือราว 77.9% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ (ที่มา สสว.) ดังนั้น กลุ่ม SMEs จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในประเทศ รวมทั้งเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะจะก่อให้เกิดการจ้างงาน มากถึง 77.9% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ในประเทศ
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กลยุทธ์ในการปั้น SMEs ไทยให้แข็งแกร่งในเวที AEC นั้น ได้แก่ การสร้าง “ความรู้” ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การค้า และการลงทุน อาทิ ข้อตกลงทางการค้า / การลงทุนในแต่ละประเทศ สิทธิประโยชน์ สิ่งอำนวยความสะดวก และกฎระเบียบต่าง ๆ โอกาสและผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในธุรกิจสาขาต่าง ๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับตลาด และการบริการโลจิสติกส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้อย่างเพียงพอในการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมี “ความพร้อม” รับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้วยการประเมินธุรกิจของตน เพื่อกำหนดแนวทางในการก้าวสู่ AEC ทำการพัฒนาสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการ การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดอาเซียนได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการสามารถขยายฐานการผลิตไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน สุดท้ายคือการสร้าง “เครือข่าย” ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เพื่อการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมโยง ห่วงโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นในภูมิภาค ผ่านกลวิธีเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่กำหนด สำหรับการดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการมีการดำเนินงานทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้
1. ฝึกอบรมติวเข้มสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ประกอบการ พร้อมการประเมินตนเอง (self assessment) วิเคราะห์ SWOT ของตนเอง รวมทั้งวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย งบประมาณ และผลกำไร เป็นต้น ทั้งก่อนและหลังการสัมมนา เพื่อให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของกิจการ ของตนเอง และวางแนวทางในการก้าวสู่ AEC ด้วยแผนที่ธุรกิจหรือ Business Roadmap โดยมีเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 จำนวน 12,000 ราย
2. พัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึก ด้วยวิธีการฝึกอบรมให้กับผู้ที่มีความรู้ในการประกอบกิจกรรม ในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ความรู้เรื่องภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศ กฎระเบียบ ประเพณี ค่านิยม และศาสนา เป็นต้น ตั้งเป้าดำเนินการ จำนวน 5,000 ราย
3. พัฒนาแรงงานอุตสาหกรรม เน้นไปที่บุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ และเตรียมพร้อมต่อการปรับตัวสู่ AEC เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การส่งต่อและรับช่วงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในเชิงลึกในรายสาขา โดยมีเป้าหมายพัฒนาจำนวน 5,000 ราย
4. พัฒนาวิสาหกิจ โดยให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันรวมกลุ่มกัน เพื่อให้ที่ปรึกษา เข้าไปให้คำแนะนำและเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการวางกำหนดนโยบาย ระบบการบริหารจัดการ การทำแผนกลยุทธ์ การกำหนดเป้าหมาย การประมาณการพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ รวมทั้งการประเมินการใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น แรงงาน วัตถุดิบ และเงินลงทุน เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายผู้เข้าร่วม กับโครงการ จำนวน 650 กิจการ
5. การสร้างเครือข่ายธุรกิจ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายในการประกอบกิจการกับประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว เป็นต้น เพื่อการสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่การผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเครือข่ายได้ไม่ต่ำกว่า 10 เครือข่าย
สำหรับผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4414 — 18 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th