ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้มีการค้ำประกัน “บ. โกลว์ พลังงาน” ที่ “A" และคงแนวโน้ม "Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2013 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในบริเวณมาบตาพุด ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็กโค่-วันจะมีการดำเนินงานที่ราบรื่นตามแผนหลังผ่านการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 1 ปีแรกและโครงการจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนแก่บริษัทตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป บริษัทโกลว์ พลังงานก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer — IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF Suez ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบัน บริษัทโกลว์ พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทมีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogeneration ประมาณ 60% ของรายได้ทั้งหมด ณ เดือนมีนาคม 2556 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 3,188 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วย IPP 1,525 เมกะวัตต์ และ Cogeneration 1,663 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogeneration ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุด โดยบริษัทขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ในอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เพียงประมาณ 2% ของกำลังการผลิตรวมเท่านั้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 3,188 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,206 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน2,345 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือระหว่าง 4-25 ปี ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือและไอน้ำ รวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้น บริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท บริษัทได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2551-2555 ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 66% เทียบกับ 55%-60% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (34%) ในปี 2555 โรงไฟฟ้า IPP มีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าลดลง กล่าวคือ อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าและการปิดซ่อมฉุกเฉินอยู่ที่ระดับ 84.8% และ 5.5% ซึ่งด้อยกว่าปี 2554 ที่มีค่าความพร้อมจ่ายในระดับ 96.3% และการปิดซ่อมฉุกเฉินในระดับ 1.8% อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของบริษัทลดลงเนื่องจากโรงไฟฟ้า IPP ที่จังหวัดชลบุรีมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า IPP แห่งใหม่ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 660 เมกะวัตต์ ภายใต้ชื่อ “เก็กโค่-วัน” ในจังหวัดระยองก็เพิ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2555 โดยที่เครื่องจักรของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ประสบปัญหาการรั่วซึมในท่อต่อของ Boiler ในช่วงเดือนแรกของการดำเนินงาน อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โรงไฟฟ้า IPP ทั้งหมดของบริษัทในจังหวัดชลบุรีดำเนินงานอย่างราบรื่นโดยไม่มีแผนการซ่อมบำรุงใหญ่แต่อย่างใด ส่วนโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันประสบปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอน้ำอีกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ทำให้อัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้ารวมของโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัทลดลงเป็น 89.4% และอัตราการปิดซ่อมฉุกเฉินก็เพิ่มขึ้นเป็น 10.7% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ส่วนโรงไฟฟ้าในกลุ่ม SPP มีการดำเนินงานที่น่าพอใจโดยมีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าในระดับ 95.9% ในปี 2555 และ 97.4% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2555 และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วัน แม้ว่ากลุ่มโรงไฟฟ้า IPP จะมีอัตราความพร้อมจ่ายไฟฟ้าลดลง แต่ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2555 โดยเติบโต 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 4,640 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2555 การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในปี 2555 ความต้องการใช้ไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น 12.9% เมื่อเทียบกับปี 2554 รายได้รวมของกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 เนื่องจากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วันในเดือนสิงหาคม 2555 ทำให้รายได้รวมของธุรกิจ IPP เติบโต 41.7% เมื่อเทียบกับปี 2554 เป็น 57,204 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 21.8% ในปี 2555 จาก 23.0% ในปี 2554 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและรัฐบาลชะลอการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Fuel Adjustment Charge -- Ft) กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น 33.2% เป็น 12,623 ล้านบาท จาก 9,477 ล้านบาทในปี 2554 ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงเติบโตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 โดยรายได้รวมเติบโต 58.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 17,354 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเก็กโค่-วัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 25.0% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จาก 21.8% ในปี 2555 อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ อาทิ ค่าไฟฟ้าผันแปรที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ค่อนข้างทรงตัว และไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงไฟฟ้า IPP ที่ระยอง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงเพิ่มขึ้น 105.3% เป็น 4,468 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากที่อยู่ในระดับ 65.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 เป็น 61.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าแล้วเสร็จตามแผน การที่บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้ทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในปี 2556-2557 บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) อันดับเครดิตองค์กร: A อันดับเครดิตตราสารหนี้: GLOW156A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A GLOW173A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A GLOW175A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A GLOW17OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A GLOW186A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A GLOW18NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A GLOW194A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A GLOW19OA: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A GLOW218A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 5,555 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ