กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--จริงใจครีเอชั่น
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปีปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่งนัก แม้หลายองค์กรทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างก็ได้ออกมาแสดงถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ตาม แต่ความเข้าใจของคนทั่วไปกลับมองว่าการแก้ไขปัญหาเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ยังขาดความเข้าใจและการร่วมมือเพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน ในทางกลับกันมีหลายหน่วยงานที่กำลังพยายาม พร้อมทุ่มเทการทำงาน จนเกิดเป็นรูปธรรมสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง
เช่นเดียวกับที่หลายปีที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ดำเนินการส่งเสริมและมุ่งเน้นงานวิจัยสัตว์ป่าหายากของไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ช้างไทย เลียงผา กวางผา สมเสร็จ เก้งหม้อ นกกระเรียนไทย และละมั่ง ซึ่งเป็นโครงการวิจัย ต้นแบบที่บูรณาการทั้งการวิจัยในห้องปฏิบัติการ สวนสัตว์ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตลอดจนสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ เพื่อการนำสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ
ละมั่งเป็น 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย และเป็นสัตว์ป่าตระกูลกวางที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยสูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยมากว่า 50 ปี เนื่องจากการถูกล่า และถูกบุกรุกพื้นที่ป่า ในประเทศไทยเคยมีละมั่ง 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์ไทย (Rucervus eldii siamensis) และพันธุ์พม่า (Rucervus eldii thamin) โดยทั้งสองชนิดมีเหลืออยู่ในสภาพการเพาะเลี้ยงเท่านั้น และจะมีกี่คนที่ทราบว่าละมั่งพันธุ์ไทยมีไม่เกิน 50 ตัวในสถานที่เพาะเลี้ยงของไทย ในขณะที่ละมั่งพันธุ์พม่า น่าจะมีอยู่มากกว่า 1,000 ตัวในประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้โครงการการขยายพันธุ์ละมั่งจึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ให้มีพันธุกรรม และสุขภาพที่ดี และสามารถนำคืนละมั่งสู่ธรรมชาติได้ต่อไป ให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์ในผืนป่าเมืองไทยอีกครั้ง และจากการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี ทีมงานวิจัยองค์การสวนสัตว์ได้พัฒนาการใช้เทคโนโลยีทางการสืบพันธุ์ขั้นสูง ในการผลิตตัวอ่อนของละมั่งพันธุ์พม่าด้วยวิธีการ ปฏิสนธิภายนอกร่างกาย(ผลิตตัวอ่อนหลอดแก้ว หรือ ไอวีเอฟ, in vitro fertilization; IVF) เพื่อศึกษาการพัฒนาของตัวอ่อนละมั่ง ซึ่งตัวอ่อนเกิดจากการนำไข่ (โอโอไซต์)จากรังไข่ของละมั่งที่ได้รับการกระตุ้นให้มีการพัฒนาของฟอลลิเคิล และเลี้ยงร่วมกับตัวอสุจิจากการแช่แข็งซึ่งคัดเลือกจากพ่อแม่ที่มีพันธุกรรมดี ให้ตัวอ่อนมีการพัฒนาภายนอกร่างกายที่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับร่างกายละมั่ง และได้ย้ายฝากตัวอ่อนเข้าสู่ท่อนำไข่ของแม่ละมั่งจนประสบความสำเร็จ แม่ตัวรับสามารถคลอดลูกละมั่งหลอดแก้วเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกในวันที่17 ตุลาคม 2554
ความสำเร็จนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนไทย มีหลายคนอาจจะรู้และได้ติดตามเรื่องนี้มาบ้าง เพราะจากความสำเร็จดังกล่าวซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ทางองค์การสวนสัตว์ได้เห็นว่าเหมาะสมที่จะนำลูกละมั่งหลอดแก้วนี้ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555 และขอพระราชทานชื่อลูกละมั่งเพื่อเป็นสิริมงคล ราชเลขาธิการในพระองค์ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อลูกละมั่ง ว่า "โรหิสรัตน์" ( -โรหิส- มีความหมายว่า —ละมั่ง- และ -รัตน์- มีความหมายว่า -แก้ว- รวมเป็น “ละมั่งแก้ว” นั่นเอง ) นำมาซึ่งความปิติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่คณะวิจัยทั้งหลาย รวมทั้งผู้ที่ได้ทราบข่าวในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ทีมนักวิจัย และผู้บริหารขององค์การสวนสัตว์
ขณะเดียวกันแม้ความสำเร็จของละมั่งหลอดแก้วจะผ่านมากว่า2 ปี แต่เชื่อว่าคงมีคนอีกจำนวนมากที่อาจจะยังไม่รู้และไม่ได้ในความสนใจในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะนำเรื่องนี้มาบอกเล่ากันอีกครั้งนั่นเพราะอยากให้ทุกคนได้ทราบถึงความมุ่งมั่น พยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่ทุ่มเทเพื่อคนส่วนใหญ่ และไม่หยุดนิ่งที่จะทำสิ่งๆ ดีเหล่านั้นซึ่งพิสูจน์ได้จากความสำเร็จครั้งนี้องค์การสวนสัตว์ ยังได้รับรางวัลด้านการวิจัยจากหลายสถาบันอาทิ เช่นรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศจากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคมรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นประจำปี ๒๕๕๖ ด้านเกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร ประเภทรางวัลระดับดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)รางวัลเหรียญบรอนซ์ จากงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้น หรือ นวัตกรรม นานาชาติ ณ เมืองเจนีวาสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่12 เมษายน ที่ผ่านมา
ปัจจุบันโรหิสรัตน์ อายุได้ 1 ปี 8 เดือนแล้ว ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับครอบครัว ณ ศูนย์วิจัย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว รอมอบความสุขให้กับทุกคนที่มาเยือน
นี่คือสิ่งการันตีถึงความทำหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าหายากของไทย โดยองค์การสวนสัตว์ ยังคงมุ่งมั่น เพื่อเร่งวิจัยต่อยอดการวิจัยการขยายพันธุ์ด้านเทคนิคหลอดแก้วนี้กับละมั่งพันธุ์ไทยซึ่งหายากกว่าละมั่งพันธุ์พม่า และต่อยอดสู่สัตว์ชนิดอื่นๆเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญต่อไป