ยอดขอลงทุนครึ่งปี 2556 เกินคาด มูลค่าลงทุนทะลุ 6.3 แสนล้านบาท คาดครึ่งปีหลัง กลุ่มเกษตร ยานยนต์ โรงไฟฟ้า ขนส่งทางอากาศยังโตต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday July 24, 2013 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--บีโอไอ บีโอไอเผยสถิติยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วงครึ่งปีแรก 2556 มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 632,800 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 47 โดยกลุ่มบริการและสาธารณูปโภคจ่อขยายลงทุนมากที่สุด ตามด้วย กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วน โลหะ เครื่องจักร และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนการลงทุนทางตรง จากต่างประเทศมีมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านบาท เลขาธิการบีโอไอมั่นใจ ยอดลงทุนทั้งปีจะมีมูลค่าตามเป้า 1 ล้านล้านบาท นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการประทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาวการณ์ลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 ( มกราคม — มิถุนายน 2556 ) ว่า มีโครงการลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ จำนวน 1,055 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 632,800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 พบว่า จำนวนโครงการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ทั้งนี้ จากสถิติขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งปีแรก 2556 พบว่า แม้โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโครงการลงทุนที่มีมูลค่าลงทุน 20 — 200 ล้านบาท จำนวน 462 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,900 ล้านบาท แต่กลุ่มที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด เป็นกลุ่มโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 104 โครงการ เงินลงทุนรวม 479,200 ล้านบาท สำหรับกิจการที่ได้รับความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรก 2556 คือ การลงทุนในกลุ่มบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 256 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 302,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 190 หรือเกือบ 2 เท่าตัว โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ กิจการท่าเรือรับก๊าซธรรมชาติเหลว กิจการเขตอุตสาหกรรม กิจการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล กิจการศูนย์กระจายสินค้า และกิจการสวนสนุก เป็นต้น รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์ และชิ้นส่วน มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 227 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 148,400 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35 ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและโลหะปั๊มขึ้นรูป กิจการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล กิจการประกอบรถกระบะ กิจการผลิตแม่พิมพ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนประเภทต่างๆ อันดับสาม เป็นการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากกลุ่มเกษตรกรรม และผลผลิตจากการเกษตร มีจำนวน 243 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 88,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 140 หรือกว่า 1 เท่าตัวโครงการขนาดใหญ่ที่เตรียมจะลงทุน ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากพืชผักผลไม้ กิจการผลิตยางแท่งและยางผสม กิจการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็ง กิจการผลิตแป้งและแป้งแปรรูป กิจการผลิตน้ำมันจากปาล์มและรำข้าว กิจการห้องเย็นและรถห้องเย็น กิจการผลิตผงชูรส กิจการผลิตอาหารสัตว์ และกิจการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ (Foreign Direct Investment: FDI) พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2556 มีโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 619 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 279,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 6 เดือนของปี 2555 ที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุดยังคงเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 333 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 184,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันดับสองคือ มาเลเซีย ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 18 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 17,341 ล้านบาท อันดับสามฮ่องกง ยื่นขอรับส่งเสริม 19 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,381 อันดับสี่สิงคโปร์ ยื่นขอส่งเสริมจำนวน 44 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,599 ล้านบาท อันดับห้า โครงการลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ จำนวน 12 โครงการ เงินลงทุนรวม 9,360 ล้านบาท บีโอไอมั่นใจยอดลงทุนทั้งปีตามเป้า 1 ล้านล้านบาท นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวถึงแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 (กรกฎาคม — ธันวาคม 2556) ว่า ยอดขอรับส่งเสริมตลอดทั้งปี 2556 จะยังมีมูลค่าเงินลงทุนตามเป้าหมายคือ 1 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยเชิงบวก ได้แก่ 1. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น 2. เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV มีแนวโน้มดีขึ้น และมีแนวโน้มลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาประเทศ นับเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าไทย 3. ธุรกิจบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มเติบโตสูง 4. การลงทุนด้านยานยนต์จำนวนมากในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทำให้มีแนวโน้มที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมากจะตามผู้ประกอบรถยนต์มาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจบรรษัทข้ามชาติจากอังค์ถัด เมื่อต้นปี 2556 ประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจเข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเชิงลบที่อาจส่งผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ซึ่งเป็นผลมาจาก 1. ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน 2.ปัญหาขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น 3. อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในไทยเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนในการลงทุน 4. อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง 5. ตลาดสินค้าหลายประเภทมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจกระทบต่อเนื่องถึงอุปสงค์ต่อ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ เป็นต้น ครึ่งปีหลัง อุตฯ เกษตร ยานยนต์ โรงไฟฟ้า ขนส่งทางอากาศ โตต่อเนื่อง นายอุดมกล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง 2556 มีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายการลงทุน และกลุ่มที่อาจลงทุนน้อยลง โดยกลุ่มที่คาดว่าจะยังมีการลงทุนต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกิจการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งแม้ตลาดรถยนต์ภายในประเทศจะชะลอตัวลง แต่จากการที่ในระยะที่ผ่านมามีการลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนขั้นที่ 1 หรือ 1st Tier ทำให้มีแนวโน้มการลงทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อป้อนชิ้นส่วนแก่กิจการข้างต้น รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์มีความสนใจขยายกำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ อีโคคาร์ เพิ่มเติม ส่วนอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ยังมีนักลงทุนแสดงความสนใจลงทุนเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่ยื่นขอรับส่งเสริม อาทิ กิจการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะกิจการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสูงมาก นอกจากนี้กิจการขนส่งทางอากาศก็จะขยายการลงทุนเพิ่ม เป็นผลมาจากธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูงและมีการลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนมาก สำหรับอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่มีแนวโน้มการลงทุนลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเบา โดยเฉพาะกิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เนื่องจากขาดแคลนแรงงานและการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบกับสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP โดยยกเลิกให้สิทธิแก่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่กิจการอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเบาที่ไม่ใช้แรงงานเข้มข้น ก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น สิ่งทอขั้นต้นน้ำ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มทั้งเพิ่มและลดในช่วงครึ่งหลังปี 2556 โดยการลงทุนในกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของโลก อาจได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือ White Goods เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ยังมีการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออก ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัว โดยน่าจะฟื้นตัวในระยะ 2 — 3 ปี ข้างหน้า และทิศทางการลงทุนในอนาคตจะมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะทาง( specialty product )มากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ