กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน
สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน(ส.วชช.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรโมดูล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชา คณะทำงานพัฒนาหลักสูตรโมดูลนำร่อง ผู้รับผิดชอบโครงการของวิทยาลัยชุมชน และ บุคลากรของสำนักงานบริหารวิทยาลัยชุมชน รวมทั้งสิ้น 70 คน
รองศาสตราจารย์ชวนี ทองโรจน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวถึงการจัดงานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรโมดูลว่า ตามที่ ส.วชช.ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจัดการความรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2454 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานมาเป็นปีที่ 3 นั้น ในปีงบประมาณ2556 คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน ได้มีนโยบายปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการ โดยเห็นชอบนโยบายการจัดการเรียนรู้เป็น 3 รูปแบบ คือ การศึกษาระดับอนุปริญญา การจัดการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ และการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นชุมชน หรือเรียกอย่างย่อว่า Track อนุปริญญา Track อาชีพ และ Track วิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของวิทยาลัยชุมชน โดยเฉพาะTrackวิทยาลัยชุมชน เป็นการจัดการศึกษา ที่เน้นวิธีการเรียนรู้เพื่อมุ่งตอบสนองการพัฒนาบนพื้นฐานศักยภาพและความต้องการของชุมชน การนำแนวทาง จัดการเรียนรู้ของวิทยาลัยชุมชนทั้ง3Trackไปสู่การปฏิบัติ คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน เห็นควรพัฒนาไปในรูปแบบโมดูลโดยให้หลักสูตรที่ดำเนินการภายใต้การจัดการความรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (Project - Based ) ที่ดำเนินการในปี2556 มานำร่องพัฒนาหลักสูตร โมดูล 4 หลักสูตร คือ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ การโรงแรมและ Hard technology ในการนี้การพัฒนาหลักสูตรตามโครงการ ซึ่งมี ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาร่วมกับคณะทำงานจากวิทยาลัยชุมชนที่เป็นผู้แทนได้คัดเลือกสูตรพิจารณานำร่อง จำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว อาหาร และ การดูแลผู้สูงอายุ หรือเด็กหรือผู้ป่วย
“ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของคณะทำงานพัฒนาหลักสูตรโมดูลนำร่องรวมทั้ง เป็นการเตรียมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในด้านการพัฒนาหลักสูตรโมดูล จึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาหลักสูตรโมดูลขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจ เกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ในชุมชน การจัดการเรียนการสอนแบบโมดูล การเทียบโอนการสะสมหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา มีความรู้และทักษะในการพัฒนาหลักสูตรโมดูล สามารถนำความรู้และทักษะไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตรของวิทยาลัยชุมชนต่อไป ” รองศาสตราจารย์ชวนีกล่าว