กรุงเทพ--14 ส.ค.--ราชบัณฑิตยสถาน
ด้วยปรากฎอยู่เสมอ ๆ ว่า ในการประชุมสภาต่าง ๆ และในการแถลงต่อสื่อมวลชนหรือในโอกาสอื่น ๆ ได้มีผู้ใช้คำว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" แทนคำว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพราะคำว่า "รัฐธรรมนูญ" หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "Constitution" เป็นตัวบทกฎหมาย คือบทกฎหมายสูงสุดเหนือบทกฎหมายทั้งหลายของประเทศ ส่วน "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Constitutional Law" เป็นกฎหมายมหาชน ที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง โดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อำนาจอธิปไตย และการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย เป็นหลักและทฤษฎีกฎหมายไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย เพราะฉะนั้น การที่อ้างว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรานั้นมาตรานี้จึงไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลักและทฤษฎีกฎหมายไม่ใช่ตัวบทกฎหมายจึงไม่มีการแบ่งออกเป็นมาตราๆ แต่ "รัฐธรรมนูญ" เป็นตัวบทกฎหมายจึงแบ่งออกเป็นมาตรา ๆ
การที่เรียกรัฐธรรมนูญว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" เหมือนกับจะไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวบทกฎหมาย จึงเพิ่มคำว่ากฎหมายนำหน้า ถ้าจะเรียกบทกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติ ว่า "กฎหมายพระราชบัญญัติ" หรือเรียกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า "สภาร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ" จะฟังขัดหูทันที เพราะฉะนั้น ราชบัณฑิตยสถานจึงขอชี้แจงมาเพื่อใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องต่อไป--จบ--