กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--C.A. Info Media
ก้าวสู่ปีที่ 12 สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เดินหน้าพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านและชุมชน โดยจัดตั้งกองทุน จำนวน 79,255 กองทุนทั่วประเทศ ด้วยสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 12,801,444 คน พร้อมสานความร่วมมือกับภาคีและเครือข่ายทุกระดับและไม่หยุดยั้งที่จะขับเคลื่อนการดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืน
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนัก เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการที่มอบหมายให้เป็นภารกิจที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) นับว่านำประโยชน์โดยตรงสู่ประชาชนในท้องถิ่น/ชุนชน เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มทุน ระยะที่ 3 (การเพิ่มทุนล้านใหม่) ได้ดำเนินการโอนเงิน ให้หมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีความพร้อมและผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว เป็นจำนวน 44,730 (คิดเป็นร้อยละ 56.44 จากเป้าหมายกองทุนทั้งหมด 79,255 กองทุน) โดยเตรียมการโอนเงินในรอบที่ 4 (ประมาณเดือนสิงหาคม 2556) ประมาณ 10,000 แห่ง และรอบที่ 5 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556) ประมาณ 12,000 แห่ง โดยส่วนที่เหลือ(ประมาณร้อยละ 15 ) จะทยอยโอนในปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 การจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้กองทุนหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งแล้ว 84 แห่ง ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งอีก 80 แห่ง ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน 10,000 แห่ง (อย่างน้อย ตำบลละ 1 แห่ง) โดยได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ธกส. และ บมจ.กรุงไทย เพื่อดำเนินการร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดอบรม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐานตามโครงการ (เป้าหมายอบรม จำนวน 5,000 แห่ง ในปีนี้) การแก้ไขปัญหาภาษีกองทุนหมู่บ้านฯ อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลังเพื่อขอยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กองทุนหมู่บ้านฯ (เช่นเดียวกับสหกรณ์ที่ได้รับการยกเว้นเพราะไม่ได้ดำเนินการทางธุรกิจ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547
ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมา นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยกระจายความเจริญรุ่งเรือง และผลักดันกระบวนการอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยการพึ่งพาอาศัยสมาชิกในชุมชน อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนให้มีความสุขสมบูรณ์ และทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในส่วนของปี 2557 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เตรียมเสนอนโยบายเพื่อการดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย ส่งเสริมและพัฒนาสมาชิกกองทุนให้มีความเข้มแข็งโดยการ “จัดทำบัตรสมาชิกกองทุน”เพื่อความภูมิใจและการเป็นโครงข่ายร่วมกันของสมาชิกกองทุนทั่วประเทศ พร้อมกับการจัดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ตลอดจนองค์ความรู้ผ่านบัตรดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกได้รับการพัฒนาและการดูแลจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด การส่งเสริมความมั่นคงกองทุน โดยการจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้านฯที่มีความพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯมีรายได้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้น และการพัฒนากองทุนเป็นศูนย์บริการประชาชน โดยส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านฯเป็นศูนย์กลางรับจ่ายค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพื่อความประหยัดและสะดวกของประชาชน ทั้งส่งเสริมให้กองทุนจัดตั้งร้านค้าชุมชน(ภายใต้ Brand กองทุนหมู่บ้านฯ) ซึ่งอาจเป็นทั้งร้านอาหาร ร้านค้า ที่พัก ฯลฯ เพื่อให้เป็นแหล่งพัฒนาและจำหน่ายสินค้าและการให้บริการอย่างมีคุณภาพ และราคาถูกแก่ประชาชน ซึ่งนอกจากกองทุนจะได้ช่วยเหลือและบริการประชาชนแล้ว กองทุนยังมีรายได้เพื่อการพัฒนากองทุนและสมาชิกให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,255 กองทุน สมาชิก 12,801,444 คน เงินทุนหมุนเวียนของกองทุน ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท โดยสมาชิกสามารถระดมเงินออมและเงินสมทบเข้ากองทุนได้กว่า 30,000 ล้านบาท และมีการใช้ดอกผลจากกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการและสาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านและชุมชนอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เป็นสถาบันการเงินชุมชน ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง และพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ประสบผลสำเร็จเป็นสถาบัน การเรียนรู้กองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อเผยแพร่บทเรียนความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2555 ได้มีการประเมินศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ผลสรุปว่ามีกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับการประเมินแล้ว จำนวน 77,696 กองทุน จากเป้าหมาย 79,255 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 98.03 โดยสรุปผลได้ว่ามีกองทุนหมู่บ้านผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก จำนวน 28,397 กองทุน (ร้อยละ 36.55) ระดับดี จำนวน 31,350 กองทุน (ร้อยละ 40.35) ระดับปานกลาง จำนวน 11,853 กองทุน (ร้อยละ 15.25) และต้องปรับปรุง แก้ไข จำนวน 6,096 กองทุน (ร้อยละ 7.85)