กรุงเทพ--3 พ.ย.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจย้ำใช้ยา "ไวอะกร้า" มีผลต่อหัวใจหากได้รับยาไนเตรตร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดก่อนการใช้ยา หากได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และ หลีกเลี่ยงจากอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้
นพ.สมชาติ โลจายะ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่าจากสถิติของสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้เสียชีวิต 69 ราย จาก 123 รายทั่วโลก เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเสียชีวิตจากการกินยา "ซิลดีนาฟิล" (SILDENAFIL) หรือ ไวอะกร้า 50 มิลลิกรัมขึ้นไป ร่วมกับยาไนเตรตที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอกในผู้ป่วยโรคหัวใจประเภทหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และเสียชีวิตภายหลังมีเพศสัมพันธ์ 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการเสียชีวิตกระทันหันจากภาวะหัวใจเต้นผันผวนอย่างรุนแรง
จากข้อมูลการเสียชีวิตพบว่า เมื่อใช้ยาไนเตรตร่วมกับ "ไวอะกร้า" ตัวยาทั้งสองจะเสริมฤทธิ์กัน และมีผลต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถกลับไปเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาออกเตือน ห้ามใช้ไวอะกร้าร่วมกับยาไนเตรตและผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาไวอะกร้า แม้แต่ผู้ป่วยโรคตับ และ ไต ควรต้องระมัดระวังในการใช้ยา เนื่องจากเป็นอวัยวะสำคัญในการขจัดยาออกจากร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยได้ ถ้าไม่หักโหมจนเกินไปอาจให้คู่สมรสมีส่วนช่วยโดยควรเฝ้าดูอาการ หากเหนื่อยผิดปกติหรือมีอาการเจ็บหน้าอกไม่ควรฝืนทำกิจกรรม หรือทดสอบจับชีพจรด้วยตนเองขณะออกกำลังกายจะทำให้ทราบว่าผู้ป่วยสามารถออกแรงได้มากน้อยเพียงใดขณะมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ การรับประทานยาบางชนิดมีผลทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ได้แก่ ยาคลายเครียด กลุ่มแวเรียม ไดซีแพม ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาลดกรด ยาลดการอักเสบ เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนการตัดสินใจใช้ไวอะกร้า ควรสืบค้นดูสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เนื่องจากพบว่า 30% ของชายที่มีปัญหาเกิดจากสภาวะจิตใจ ได้แก่ ความกลัว ความวิตกกังวล ซึ่งมีผลต่อกลไกการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ได้มีการทดลองใช้ยาเทียมที่มีลักษณะเหมือนไวอะกร้าใช้ผู้ป่วยกิน พบว่าสามารถทำให้อวัยวะแข็งตัวได้ 30-40% จึงพิสูจน์ได้ว่าปัญหาทางด้านจิตใจมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ของยา "ไวอะกร้า" ตัวเดียวไม่สามารถทำให้อวัยวะเพศของชายแข็งตัวเพราะต้องพึ่งพาสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดอารมณ์เพศ โดยขั้นตอนการออกฤทธิ์ยาต้องการความพร้อมสมบูรณ์ของกลไกการแข็งตัวอวัยวะเพศ ได้แก่ จิตใจ ระบบประสาทสมอง ฮอร์โมน และอวัยวะเพศ หากกลไกใดบกพร่องก็จะมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่ควรใช้ไวอะกร้า ยังมียาอื่นเป็นทางเลือก เช่น ยาฉีด หรือ ยาสอด "อัลพรอสตาดิล" ซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่มีผลข้างเคียงน้อย โดยสาร "พรอสต้าแกรนดิน" จะเป็นตัวทำให้หลอดเลือดอวัยวะเพศขยายตัว และไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ
"การสืบค้นให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง จะทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมได้ คนไข้ควรให้ความร่วมมือกับแทพย์ในการให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ ในกรณีที่แพทย์ใช้วิธีการตรวจวัดคลื่นหัวใจแล้วไม่พบว่าเป็นโรคหัวใจในขณะนั้น ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนไข้ไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจ ดังนั้นการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอและปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาจึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด" นพ.สมชาติ กล่าวในที่สุด--จบ--