กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
ผู้บริโภคไทยร้อยละ 95 ออมเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อการศึกษาของลูก พ่อแม่เกือบ 9 ใน 10ส่งลูกเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกหลักสูตร
จากการสำรวจล่าสุดของมาสเตอร์การ์ดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญด้านการซื้อ หรือ MasterCard Survey on Consumer Purchasing Priorities พบว่าผู้บริโภคไทยถึงร้อยละ 95 เก็บออมจากรายได้ของพวกเขาเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก[1] กว่าครึ่งหนึ่งของพ่อแม่ชาวไทยใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของเด็กเป็นจำนวนร้อยละ 11-30 ของรายได้ครัวเรือน และเกือบ 9 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทยส่งลูกเข้าชั้นเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกหลักสูตร เพื่อเป็นการลงทุนสำหรับอนาคตที่สดใสของเด็กๆ
ตัวเลขผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคในประเทศไทยอยู่อันดับสูงสุดของภูมิภาคทางด้านการออมเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อการศึกษาของลูก (95%) ตามมาติดๆ ด้วยผู้บริโภคในมาเลเซีย (94%) อินโดนีเซีย (83%) และสิงคโปร์ (83%) นอกจากนี้ ผู้ปกครองชาวไทยเกือบ 9 ใน 10 คนยังส่งบุตรหลานเข้าเรียนพิเศษนอกหลักสูตรเพิ่มเติม (89%) โดยส่วนมากจะเป็นการเรียนภาษาต่างประเทศ (49%) ดนตรี (42%) และกีฬา (40%) ส่วนในแง่ของการศึกษาระดับสูงนั้น การเข้ามหาวิทยาลัยภายในประเทศยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากพ่อแม่ชาวไทย (64%) โดยมีพ่อแม่เพียงบางส่วนเท่านั้นที่วางแผนจะส่งลูกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 19 สำหรับพ่อแม่ที่คิดจะส่งลูกไปเรียนต่อในทวีปอเมริกา และร้อยละ 15 สำหรับทวีปยุโรป
นอกเหนือจากแผนการลงทุนทางด้านการศึกษาสำหรับลูกๆ แล้ว ยังมีชาวไทยที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความรู้ความสามารถทางวิชาการให้แก่ตนเอง ผลการสำรวจพบว่าผู้เข้าร่วมในการวิจัยเกินกว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) ให้ความสนใจในการเข้าร่วมหลักสูตรทางการศึกษาใน 1 ปีข้างหน้า โดยสัดส่วนผู้ที่สนใจเรียนแบบเต็มเวลา (full-time) นั้นเท่ากับการเรียนนอกเวลา (part-time) โดยเหตุผลหลักที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเหล่านี้ต้องการเพิ่มพูนความรู้มากที่สุด 3 ข้อได้แก่ ความต้องการในการศึกษาเพิ่มเติม (49%) หลักสูตรมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพที่พวกเขาอยากทำ (35%) และเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองหรืองานอดิเรกของพวกเขา (17%)
นายแอนโทนิโอ คอร์โร ผู้จัดการประจำประเทศไทยและพม่า มาสเตอร์การ์ด เวิลด์วายด์ ให้ความคิดเห็นว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่าผู้บริโภคชาวไทยนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเพื่อตัวพวกเขาเองหรือเพื่อลูกหลาน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ประเทศไทยนำหน้าในด้านการออมเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อการศึกษาของเด็กๆ ในความคิดของผมนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาถือเป็นการลงทุนที่ดีอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นการปูอนาคตที่ดีให้กับผู้คนและประเทศชาติ การใช้จ่ายทางวิชาการนั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไปเพราะว่ามันจะนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของทั้งสังคมในไทยและทั่วโลก”
หากมองภาพรวมในระดับภูมิภาค 1 ใน 3 ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกมีความตั้งใจเข้าคอร์สเรียนใน 1 ปีข้างหน้านี้ และเกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคเหล่านี้เก็บเงินอยู่สม่ำเสมอสำหรับการศึกษาของลูกๆ โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขาใช้เงินร้อยละ 13 ของรายได้ครัวเรือนในค่าใช้จ่ายทางการศึกษา สำหรับการศึกษาระดับสูงนั้น พ่อแม่ในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ยังคงตั้งใจส่งลูกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยภายในประเทศของพวกเขา ในขณะที่ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 4 ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะส่งลูกไปเรียนที่ไหน
การสำรวจของมาสเตอร์การ์ดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญด้านการซื้อนี้จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้งเพื่อทำความเข้าใจในมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับการให้ความสำคัญในการซื้อ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การรับประทานอาหารและความบันเทิง การศึกษา การบริหารจัดการทางการเงิน และการช้อปปิ้งระดับหรู โดยได้ทำสำรวจกับประชากรทั่วทั้งทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยในผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดนั้น มี 408 คนที่เป็นผู้พำนักอาศัยในประเทศไทย มีอายุระหว่าง 18-64 ปีที่มีบัญชีธนาคาร และถูกสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการกำหนดสัดส่วนโควต้าด้วยอายุ เพศ เชื้อชาติ ต่อประชากรที่สามารถเข้าถึงธนาคารได้ โดยช่วงรวบรวมข้อมูลเกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2556 ผลสำรวจและรายงานประกอบไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการดำเนินงานทางการเงินของมาสเตอร์การ์ดทั้งสิ้น