กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--สำนักวิจัยสยามอินเตอร์เน็ตโพลล์
ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอ.วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ แถลงผลการสำรวจการใช้เครื่องมือสื่อสาร (Social media)ผ่าน social network ของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพฯ พบ 3 อันดับยอดนิยมคือ Facebook, Twitter และ YouTube ตามลำดับ
สำนักวิจัยสยามอินเตอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา สำรวจพฤติกรรมการใช้ Social media ผ่าน social network ในลักษณะการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling)
ผลสำรวจนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ในระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม 2556 ในกลุ่มเยาวชนไทยเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 15-25 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 1,135 คน ประกอบอาชีพ ครูอาจารย์ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประกอบธุรกิจส่วนตัว
พบว่าเกินครึ่งระบุว่า Social Network หรือ Social Media มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน โดย 87.02 % ของกลุ่มสำรวจระบุว่า ระบบการสื่อสารยุคใหม่ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง ในขณะเดียวกันทำให้ไม่เสียเวลาและไม่ต้องเดินทาง
การสำรวจยังลงลึกในรายละเอียดด้านเศรษฐกิจอีกว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 49.69 ระบุว่า การใช้ social media ในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลให้ตนเองมีค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นหรือลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.14 ระบุว่า ตนเองมีค่าใช้จ่ายประจำวันลดลง กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.8 ยอมรับว่า ตนเองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.37 ไม่แน่ใจ
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 58.15 ระบุว่าการสื่อสารโดย Social media (ผ่าน Social network) มีความสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.68 ระบุว่า ในปัจจุบันนี้ตนเองใช้การสื่อสารโดย social media (ผ่าน social network) มากที่สุดเมื่อเทียบกับการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ (voice communication) และการสื่อสารแบบเจอกันต่อหน้า (face-to-face) ขณะที่เกือบหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าตนเองใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ (voice communication) มากที่สุด และร้อยละ 15.68 ระบุว่าตนเองใช้การสื่อสารแบบเจอกันต่อหน้า (face-to-face) มากที่สุด
สำหรับสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างใช้การสื่อสารโดย Social media (ผ่าน social network) มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่เสียเวลานาน คิดเป็นร้อยละ 88.14 ไม่ต้องเดินทาง และสื่อสารได้เข้าใจกับคนหลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 87.02 มีช่องทางการสื่อสารหลายรูปแบบ คิดเป็นร้อยละ 83.65 สามารถส่งภาพ/วีดีโอ/คลิป/ข้อความได้ คิดเป็นร้อยละ 82.37 และไม่เสียค่าใช้จ่าย คิดเป็นร้อยละ 80.29
ส่วนสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ (Voice communication) มากที่สุด 3 อันดับได้แก่ ได้ยินเสียงในการโต้ตอบและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้สนทนา คิดเป็นร้อยละ 87.09 ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 82.88 และ สามารถส่งภาพ/วีดีโอ/คลิป/ข้อความได้ คิดเป็นร้อยละ 79.58
และสาเหตุสำคัญของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้การสื่อสารแบบเจอกันต่อหน้า (Face-to-face) มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของการสนทนา คิดเป็นร้อยละ 90.45 สามารถตรวจสอบเอกสารที่ใช้ประกอบการสนทนาได้ทันที คิดเป็นร้อยละ 87.64 และ ได้ความชัดเจน และตรงประเด็นในเรื่องที่พูดคุย คิดเป็นร้อยละ 85.39
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 52.78 ระบุว่าตนเองใช้ social network ในการสื่อสารมากกว่าการใช้โทรศัพท์ โดยสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างใช้ social network ในการติดต่อสื่อสารมากกว่าการใช้โทรศัพท์สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่เสียเวลานาน คิดเป็นร้อยละ 88.81 สามารถส่งภาพ/วีดีโอ/คลิป/เสียง/ข้อความได้ คิดเป็นร้อยละ 82.8 และ ประหยัดค่าใช้จ่าย คิดเป็นร้อยละ 80.63ขณะที่ ส่วนสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้ social network ในการติดต่อสื่อสารมากกว่าการใช้โทรศัพท์สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สื่อสารผ่านโทรศัพท์สามารถโต้ตอบกันได้รวดเร็วและทันท่วงทีกว่า คิดเป็นร้อยละ 85.26 เรื่องที่สนทนาเหมาะกับการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มากกว่า คิดเป็นร้อยละ 80.22 และคู่สนทนาไม่สามารถใช้ social network ได้ คิดเป็นร้อยละ 75.75
สำหรับเครือข่าย Social network ที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีผู้นิยมใช้เพื่อการสื่อสารมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ Facebook คิดเป็นร้อยละ 80.26 Twitter คิดเป็นร้อยละ 76.92 และ YouTube คิดเป็นร้อยละ 71.37
ส่วนผลกระทบจากการใช้ social network กับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า การใช้ social network ในปัจจุบัน ส่งผลให้ความใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว การพบปะเพื่อนฝูง ผลการเรียน/การทำงาน และ สมาธิในการเรียน/การทำงานของตนเองยังคงเหมือนเดิม โดยคิดเป็นร้อยละ 49.07 ร้อยละ 49.6 ร้อยละ 48.55 และ ร้อยละ 47.05 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสี่ยอมรับว่า การใช้ social network ในปัจจุบันส่งผลให้ความใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว การพบปะเพื่อนฝูง ผลการเรียน/การทำงาน และ สมาธิในการเรียน/การทำงานลดลง นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.19 ระบุว่า การใช้ Social media ไม่ได้ส่งผลให้ตนเองสามารถการทำกิจกรรมทั่วไป เช่น การขับรถ การรับประทานอาหาร การนอน การพักผ่อน ได้มากขึ้นหรือน้อยลง แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 45.46 ยอมรับว่าตนเองทำกิจกรรมทั่วไปได้ในเวลาที่ช้าลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามระบุว่า การใช้ social network ทำให้ตนเองมีสุขภาพจิตดีขึ้น และ มีความเครียดลดลง และการใช้ social network ไม่ได้ส่งผลให้ตนเองมีค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด
สื่อมวลชนที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือประสานงาน : สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา)ได้ที่
1. ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส
โทร. 08 1621 4526 หรือ 0 2878 5089
E-Mail. Charmonman@Gmail.com
2. อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ
โทร. 08 1903 2299
E-Mail. President@SiamTechU.net
3. ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ
โทร. 08 1899 2683 หรือ 0 2878 5058
4. ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ
โทร. 0 2955 4949
5. อาจารย์ วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ
โทร. 08 9106 0460