กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
มูลนิธิ 3 อาร์ ผนึกพลังสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ร่วมศึกษา ดูงานและเยี่ยมชมการดำเนินงานของ มูลนิธิฉือจี้ ประเทศไต้หวัน พร้อมลงลึกสำรวจรูปธรรมความสำเร็จ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ณ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงและอนุสรณ์สถาน เจียงไคเช็ค หวังเดินหน้าพัฒนาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิการจัดการทรัพยากร อย่างยั่งยืน (3 อาร์) เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นการศึกษาดูงานแนวทางการดำเนินงานของ มูลนิธิฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม โดยการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ ทั้งด้านความช่วยเหลือในการดำรงชีพ ความช่วยเหลือในด้านสุขภาพอนามัย และด้านการศึกษา ซึ่งชาวไต้หวันมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยแยกเป็นวัสดุรีไซเคิลและไม่ใช่วัสดุรีไซเคิล ส่วนที่ไม่ใช่วัสดุรีไซเคิลก็จะถูกนำไปกำจัดโดยวิธีการเผา และส่วนที่เป็นวัสดุรีไซเคิลจะถูกนำไปสร้างมูลค่าและนำไปรีไซเคิล สำหรับบ้านเรือนจะมีการนำถุงที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ราคาประมาณ 1 บาทต่อถุง มาบรรจุขยะเพื่อนำออกมาทิ้ง ลักษณะถุงเป็นถุงใสเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบได้ว่า มีการคัดแยกจริง แต่ส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายประชาชนมักนำถุงขยะกลับมาใช้ซ้ำ จึงทำให้ชาวไต้หวัน ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการมูลฝอยก่อนทิ้ง โดยเน้นให้มูลฝอยมีความสะอาด บรรจุภัณฑ์ใดที่เปื้อนอาหาร ก็จะมีการล้างทำความสะอาดก่อนทิ้ง จากนั้น ภาครัฐก็จะจัดรถจัดเก็บมูลฝอยออกวิ่งเก็บตามจุดต่างๆ และมีเจ้าหน้าที่เดินคู่ไปกับรถเพื่อคอยตรวจสอบการทิ้งขยะของประชาชน โดยบ้านเรือนใดไม่มีการคัดแยกจะถูกตักเตือน และแจ้งให้ทราบเพื่อนำกลับไปคัดแยกใหม่โดยจะไม่มีการจัดเก็บ และหากมีการตักเตือนอีกก็จะมีการใช้มาตรการ จ่ายค่าปรับ สำหรับภาชนะแยกประเภทขยะตามท้องถนน เป็นภาชนะแบบแยกประเภท มีทั้งแบบแยก 2 ประเภท คือ วัสดุรีไซเคิลและขยะทั่วไป กับการแยกประเภทตามชนิดของวัสดุ เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก กระป๋อง เป็นต้น
“มูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน ตั้งอยู่ที่ เมืองฮวาเลี๋ยน ประเทศไต้หวัน เป็นมูลนิธิการกุศลที่วางรากปักฐานที่มณฑลไต้หวัน และได้แผ่กิ่งก้านสาขาไปยังทั่วทุกมุมโลก ก่อตั้งโดยท่านธรรมจารย์เจิ้งเอี๋ยน ตั้งอยู่ที่อำเภอ “ฮวาเลี๋ยน” ประเทศไต้หวัน ระยะเวลากว่าสี่สิบสามปีมานี้ได้ให้บริการแก่สังคม ก่อสร้างโรงพยาบาล ก่อสร้างโรงเรียน และงานปณิธานด้านวัฒนธรรมสังคม เป็นต้น เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของ “ฉือจี้” ได้มาจากการบริจาคของประชาชน และการขายวัสดุรีไซเคิล อาสาสมัคร "ฉือจี้” นั้น ก็คือผู้ปฏิบัติงานให้บริการตามกิจกรณีที่แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้จ่ายเงินบริจาคนั้นจะได้รับการควบคุมตรวจสอบโดยละเอียด จึงได้รับความไว้วางใจและสนับสนุนจาก ผู้คนภายในและต่างประเทศ ชาว “ฉือจี้” ที่พำนักยังต่างประเทศก็ยังได้นำเอางานปณิธานของ “ฉือจี้” ติดตามไปที่ประเทศนั้นๆ พร้อมยังรวมน้ำใจร่วมพลังกับผู้คนเจ้าของประเทศ ผลักดันงานด้านการกุศลบรรเทาภัยขึ้น ปัจจุบันมีสาขาและสาขาย่อยจุดประสานงานของ “ฉือจี้” กระจายอยู่ 47 ประเทศทั่วโลก และให้ความช่วย บรรเทาทุกข์แล้วกว่า 65 ประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีมากที่เราเองน่าจะนำมาใช้เป็นแนวทางและประยุกต์ใช้ ภายในประเทศไทยเช่นกัน” นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี กล่าว
เกี่ยวกับการเดินหน้ารุกรณรงค์ด้านการจัดการขยะในเมืองไทยนั้น นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี กล่าวถึงแผนการดำเนิการดังกล่าวว่า “ในเมืองไทยเราก็ได้ดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยผสานความร่วมมือ กับ TIPMSE ในการส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการลดการใช้ เพิ่มการใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (3 อาร์) ให้แก่ ภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งแบบที่ใช้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง และการปรพสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ที่มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ การเปิดโลกทัศน์ ด้านการจัดการขยะโดยส่งทีมนักวิชาการร่วมศึกษาดูงานในแหล่งเรียนรู้ทั่วโลก ดังที่ล่าสุดเราได้เดินทางมาศึกษา รูปธรรมแห่งการดำเนินการที่ไต้หวัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ที่เราได้ดำเนินไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด”
โดยในครั้งนี้ ทีมงานได้เห็นมุมมองของหน่วยงานที่มีการดำเนินงานในลักษณะที่คล้ายกัน และองค์กรสาธารณกุศล ที่เกี่ยวกับจิตอาสาและการจัดการขยะ ซึ่งการดูงานได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก คือ The Formosa Association of Resource Recycling (FARR) เน้นการดำเนินงานที่คล้ายกับมูลนิธิ ทั้งนี้ FARR เกิดขึ้นในปี พ.ศ 2547 (ค.ศ. 2004) มาจากการรวมกลุ่มกันของบริษัทต่างๆ ในประเทศไต้หวันภายใต้การส่งเสริมของกระทรวงสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็น ที่ปรึกษารัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อม ให้คำแนะนำด้านกฎหมายและการรีไซเคิล รวมถึงตรวจสอบภาครัฐ ในมาตรการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมจัดทำระบบการรีไซเคิล (หมุนเวียนการใช้ประโยชน์) จากทรัพยากร รวมทั้งการสร้างเครือข่ายให้เป็น chain ในการนำกลับมารีไซเคิล ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการรีไซเคิลทรัพยากร ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ด้านรีไซเคิล และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอด ความรู้การรรีไซเคิลผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสัมมนา การศึกษาดูงาน การวางแผนจัดหลักสูตร โดยการดำเนินงาน ใช้มาตรการ 4 in 1 ได้แก่ ด้าน Communities, ด้าน Recycling Industries, ด้าน Recycling Management Fund และด้าน Municipal Garbage Collection Teams มีส่วนช่วยภาครัฐในการส่งเสริม ภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิล ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเดิมประมาณ 1 กิโลกรัม/คน/วัน ปัจจุบันลดลงเหลือขยะที่ต้องนำไป กำจัด 0.2-0.4 กิโลกรัม/คน/วัน
“ในส่วนที่สองที่ทีมงานได้ศึกษาดูงานคือ การดำเนินงานของมูลนิธิฉือจี้ ที่เน้นการดำเนินงานที่ส่งเสริมสังคม การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้และการคัดแยกขยะโดยรายได้ของมูลนิธิจะมาจากการบริจาค การจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง การจำหน่ายวัสดุรีไซเคิลซึ่งจะใช้ในกิจกรรมภายในองค์กร และส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิล (ขวดพลาสติกใส : PET) นอกจากนี้ รายได้ดังกล่าวยังถูกนำมาพัฒนาสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย รายการของสถานีสามารถออกอากาศได้ ทั่วโลกมีทั้งรายการข่าว สารคดี ละคร ธรรมะ โดยส่วนใหญ่รายการจะเป็นลักษณะขัดเกลาจิตใจและคติธรรม รวมถึงสถานีรีไซเคิลกวานตู้ เมืองไทเป ณ ที่แห่งนี้ยึดหลักการดำเนินงาน 5 R ได้แก่ Refuse, Reduce, Reuse, Repair และ Recycle ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรและให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งการดำเนินงานโดย อาสาสมัครส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้เกษียณอายุ คนชรา และแม่บ้าน จะช่วยกันคัดแยกวัสดุรีไซเคิลที่รับมาจากครัวเรือน มาเพิ่มมูลค่า ช่วงเวลาจัดเก็บระหว่าง 07.00 — 10.00 น. ทั้งนี้หลักในการคัดแยกจะใช้นิ้วมือ 10 นิ้ว แทนวัสดุรีไซเคิลแต่ละประเภทดังนี้
มือซ้าย
- นิ้วหัวแม่มือ แทนขวดแก้ว
- นิ้วชี้ แทนขวดพลาสติกใส (PET)
- นิ้วกลาง แทนขวดพลาสติกอื่นๆ
- นิ้วนาง แทนกระป๋อง
- นิ้วก้อย แทนกระดาษ
มือขวา
- นิ้วก้อย แทนถ่านไฟฉาย
- นิ้วนาง แทนเสื้อผ้า
- นิ้วกลาง แทนขยะอิเล็กทรอนิกส์
- นิ้วชี้ แทนหม้อ กระทะ
- นิ้วหัวแม่มือ แทนอื่นๆ เช่น เทป ร่วม
การคัดแยกของที่นี่จะค่อนข้างละเอียด ตัวอย่างเช่น กระดาษขาว-ดำ ส่วนที่มีการพิมพ์ด้วยหมึกจะถูกแยกไว้ ในขณะที่ ส่วนที่เหลือที่สะอาดไม่เปื้อนหมึกพิมพ์จะถูกตัดและนำไปรวมกับกระดาษขาว-ดำที่สะอาด ซึ่งจะได้ราคาที่ดีกว่า รายได้จากการจำหน่ายวัสดุรีไซเคิลจะนำมาใช้ในมูลนิธิและใช้ในกิจการของสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย นอกจากนี้เสื้อผ้า ที่รวบรวมได้และอยู่ในสภาพดีจะนำมาขายเป็นสินค้ามือสองด้วย” นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี กล่าวอธิบายเพิ่มเติม
ความเป็นมาของมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3 อาร์)
มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3อาร์) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2555 โดยคำแนะนำ ของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ต้องการจะก่อตั้งมูลนิธิเพื่อดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สำหรับทุนในการจดทะเบียนมูลนิธิฯ มาจากสองส่วนคือ พระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ได้มอบปัจจัยที่ได้จากการจัด กิจกรรมผ้าป่ารีไซเคิลและเงินบริจาคจาก บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
1. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและถวายความรู้แด่พระภิกษุสงฆ์และสนับสนุนกิจกรรมเผยแพร่ด้านการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยให้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง
2. เพื่อการศึกษาและฝึกอบรมอาชีพเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม
3. ส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการ ลดการใช้ เพิ่มการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ (3 อาร์) ให้แก่ ภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน
4. เพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูลสถิติ จัดทำดัชนีข้อมูลการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เพื่อพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรต่างๆให้เกิดความยั่งยืน
5. เพื่อส่งเสริมงานการศึกษา การพัฒนา และการฝึกอบรม ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดสังคมรีไซเคิล และอุตสาหกรรมสีเขียว (อุตสาหกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ในประเทศและต่างประเทศ
6. เป็นองค์กรที่ศึกษาและจัดทำมาตรฐาน ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
7. เพื่อส่งเสริมให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำ ด้านวิชาการ การลงทุน การผลิตและการตลาดในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน กับภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเพื่อสังคม ( Social Enterprise) และองค์กรต่างๆ
8. สนับสนุนและประสานการดำเนินกิจกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างผู้ประกอบการธุรกิจ อุตสาหกรรมรีไซเคิล และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทาน ให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Production and Consumption)
9. ดำเนินการและให้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
10. ดำเนินการอื่นๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
11. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
คณะกรรมการมูลนิธิประกอบด้วย
- พระธรรมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดพระรามเก้า กาญจนาภิเษก ประธานที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์
- ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส
- ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการมูลนิธิ
ความเป็นมาของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2506 หลังจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนเข้ารับการสมาทานศีลแล้ว จึงเดินทางกลับไปยัง เมืองฮวาเลี๋ยนและเริ่มปฏิบัติธรรม ณ บ้านไม้หลังเล็กซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางฟุต บริเวณหลังหมู่บ้านเจียหมิน ตำบลซิ่วหลิน โดยศึกษาและค้นหาความหมายที่แท้จริงของคัมภีร์ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร”
ณ สถานที่แห่งนี้ ท่านธรรมาจารย์ได้สวดบทสัทธรรมปุณฑริกสูตรทุกวัน และคัดออกมาเป็นคัมภีร์ทุกเดือน ทว่าเนื่องจากท่านธรรมาจารย์ไม่บิณฑบาตและไม่รับประกอบพิธีกรรม บ่อยครั้งจึงไม่มีแม้แต่ดอกไม้หรือผลไม้ บูชาพระ หลังจากปฏิบัติตามวิถีดังกล่าวนานกว่าครึ่งปี ท่านจึงตั้งปณิธานปฏิบัติตาม “สัทธรรมปุณฑริกสูตร” ไปตลอดชีวิต วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2509 (วันที่ 24 เดือน 3 พ.ศ.2509) “มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน” ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ วัดผู่หมิง หมู่บ้านเจียหมิน ท่านธรรมาจารย์นำเหล่าลูกศิษย์ปฏิบัติธรรม ณ วัดผู่หมิง โดยทุกคนต่างดำเนินชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเอง ยึดกฎที่ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นไม่ขอฉันอาหาร” นอกจากนั้น ท่านยังได้นำเหล่าแม่บ้าน 30 คนขอรับบริจาคเงินวันละ 5 เซ็นต์ ทุกวัน เพื่อนำมาช่วยผู้อื่น ทุกวันที่เก็บรวบรวม ก็จะต้องอธิษฐานจิตให้เป็นกุศล โดยกลุ่มเป้าหมายที่มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรกก็คือ ผู้ยากไร้ และผู้ป่วย
จากนั้นในปี พ.ศ. 2529 จึงก่อตั้งโรงพยาบาลฉือจี้ขึ้น จากนั้นจึงจัดสร้างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ขึ้น โดยหลักการที่มูลนิธิฯ แห่งนี้ใช้อยู่ก็คือ หลักพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วจึงใช้สื่อโทรทัศน์ สถานีต้าอ้าย (Da ai) ในการขยายผลและสร้างจิตสำนึก เพื่อขัดเกลาจิตใจ และสร้างสังคมให้สงบสุข กิจกรรมหลักที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมีทั้งหมด 4 ด้าน คือ 1. การกุศล 2. การรักษาพยาบาล 3. การศึกษา และ 4. จริยศาสตร์ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาแล้วกว่า 158,000 ราย และมีสาขาในการให้ความช่วยเหลือกว่า 231 แห่ง การช่วยเหลือ มีทั้งด้านการกุศลและการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะเหตุพิบัติภัย ทั้งแผ่นดินไหวในเฮติ ชิลี มณฑลเสฉวนประเทศจีน ญี่ปุ่นและสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาสาสมัครฉือจี้ใช้ความรักอันยิ่งใหญ่เร่งรุดเข้าไปช่วยเหลือเป็นคณะ แรกๆ ทำงานบรรเทาภัย พร้อมทั้งก่อสร้างที่พักอาศัย ในด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยน ได้ให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างอาคารต่างๆ ของมูลนิธิฯ ก็มีหลักการก่อสร้างประกอบด้วย 1) ต้องใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อความปลอดภัยของอาคารเพราะไต้หวันเป็นประเทศที่อยู่ในบริเวณแนวเคลื่อน ของเปลือกโลก 2) การอนุรักษ์น้ำ โดยการนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนซ้ำอีก 3) การถ่ายเทแสงและอากาศ และสอดคล้องกับธรรมชาติ นอกจากนั้น ท่านยังถ่ายทอดแนวคิดการใช้สองมือช่วยโลกโดยการคัดแยกเพื่อนำกลับ มารีไซเคิล
ประวัติผู้ก่อตั้ง
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2506 ผู้ก่อตั้ง (ท่านธรรมาจารย์เจิ้งอี๋ยน) ได้เดินทางไปยังวัดหลินจี้ในเมืองไทเป เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมพิธีสมาทานศีล ทว่าเนื่องจากท่านปลงผมบวชเองโดยไม่มีพระอุปัชฌาย์ จึงไม่สามารถเข้าร่วม พิธีได้ ต่อมาในขณะที่ท่านธรรมาจารย์กำลังคิดจะหาหนังสือ “สรรพนิพนธ์ของท่านธรรมาจารย์ไท่ซวี” เพื่อนำกลับไป ศึกษาต่อ ณ เมืองฮวาเลี๋ยนนั้น จึงได้พบกับมหาเถระอิ้นซุ่น และได้รับการอุปสมบทอย่างเป็นทางการ มีฉายาว่า “เจิ้งเอี๋ยน” โดยมหาเถระอิ้นซุ่นได้ให้คำกำชับว่า “จงทำเพื่อพุทธศาสนา เพื่อมวลชีวัน” จากนั้นมา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเอี๋ยนยึดมั่นในคำกำชับของพระอุปัชฌาย์มหาเถระอิ้นซุ่นเรื่อยมา และเป็นมูลเหตุของการรังสรรค์ สร้างโลกแห่งความรักของฉือจี้ ดังเช่นปัจจุบัน
นวัตกรรมที่น่าสนใจ
สวนแนวตั้ง : การใช้แนวคิดสวนแนวตั้งเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวในขณะที่ขนาดพื้นที่จำกัด และมีการหมุนเวียนน้ำ กลับมาใช้ซ้ำได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนประกอบบางส่วนของสวนแนวตั้งแห่งนี้ มีการใช้ขวด PET เป็นวัตถุดิบ
เครื่องแต่งกายของอาสาสมัคร : เครื่องแต่งกายของอาสาสมัคร เป็นสีน้ำเงินเข้มและมีสัญลักษณ์ของมูลนิธิ อยู่บริเวณหน้าอก สามารถใช้ในการกันฝนและกันหนาวได้
ข้าวของบรรเทาทุกข์ : ประกอบด้วย ผ้าห่ม และเสื้อผ้าสำหรับผู้ประสบภัย ทำจากขวด PET โดยเฉพาะส่วนของผ้าห่ม ทำจาก ขวด PET 100% (ขวด PET ขนาด 600 ซีซี 70 ขวด สามารถผลิตผ้าห่มขนาด 1.8 * 2.3 เมตร ได้ 1 ผืน) ปัจจุบันมีการรวบรวมวัสดุรีไซเคิลจากประชาชนทั่วไป
รถเก็บโคลน : เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือในพื้นที่น้ำท่วม โดยสามารถทำความสะอาดเก็บกวาดดินโคลนได้อย่างรวดเร็ว
Solar Cell + LED Lamp: เป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างในแคมป์ที่พัก เคยใช้ในประเทศเคนย่า
ตู้โซลาร์เซลล์เคลื่อนที่ : แผงโซลาร์เซลล์ที่จะแปลงเป็นพลังงานสำรองไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉิน มีลักษณะเป็นกระเป๋า สามารถถือไปในที่ต่างๆ ได้
อุปกรณ์กรองน้ำ : มีการดัดแปลงอุปกรณ์ในบ้านเป็นเครื่องกรองน้ำพกพา (เช่น ร่ม)
เรือช่วยน้ำท่วม : เป็นเรือ 2 ลำ ที่สามารถนำไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยได้ โดยการทำงานของเรือลำแรก จะทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองน้ำ และส่งต่อไปยังเรือลำที่สอง เพื่อต้มน้ำและใส่ในข้าวสำเร็จรูปที่เตรียมไว้ (ผ่านการทดลองแล้ว แต่ยังไม่เคยในงานจริง)
เครื่องอัดวัสดุรีไซเคิล : การคัดแยกวัสดุรีไซเคิลและการลำเลียงเป็นหน้าที่ของอาสาสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และคนชรา ซึ่งทำให้ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก จัดสร้างเครื่องบีบอัด (Compressor Machine) เพื่อลดขนาดของวัสดุรีไซเคิลและอัดเป็นก้อนขนาดพอดี เหมาะแก่การลำเลียงขนส่งโดยคนได้ วัสดุรีไซเคิลที่นำมาอัด ก็คือ พลาสติก กระป๋อง และถุง ขนาดของวัสดุรีไซเคิลที่อัดเสร็จแล้ว จะมีน้ำหนัก 15 กก. ต่อก้อน
มหาวิทยาลัยฉือจี้
ท่านธรรมาจารย์เคยศึกษาธรรมะในป่าไผ่ จึงเห็นการเติบโตของต้นไผ่ ได้เห็นการแตกหน่อของไผ่ จึงเห็นสัจธรรม ในเรื่องของการแตกหน่อจากหนึ่งไปสอง จากสองเป็นสี่ เปรียบเทียบกับการสอนคนหนึ่งคนจะทำให้ความรู้แตกหน่อ ออกไปเรื่อยๆ การศึกษารูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้น คณะที่เปิดสอน จึงเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ นอกจากนั้น นักศึกษาจะได้เรียนการชงชา การจัดดอกไม้ และการเขียนอักขระจีนด้วยพู่กันเพื่อพัฒนาจิตใจด้วย
นักศึกษาของที่นี่ ถูกฝึกโดยเน้นหลักมนุษยธรรม รู้จักการให้เกียรติและเคารพผู้อื่น การเรียนการสอนเป็นแบบ Two-ways communication และจะสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นจิตอาสา การสอนของที่นี่จะมี 2 แนวทาง คือ การจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้และผู้เชี่ยวชาญประจำสาขาวิชา เพื่อคอยให้คำแนะนำสั่งสอนตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ วิชาที่สำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือ กายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเปิดเรียนเป็นครั้งแรกในปี 2539 ซึ่งนักศึกษาปีที่ 3 ของคณะแพทยศาสตร์ ที่เรียนในวิชานี้ จะต้องถูกฝึกให้เรียนรู้การเคารพอาจารย์ใหญ่ หรือที่เรียกว่า บรมครูผู้ไร้เสียง ซึ่งหมายถึงร่างที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมาเพื่อใช้ในการศึกษาวิชาแพทย์ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยจะมีการจัดเซ่นไหว้ อาจารย์ใหญ่เป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจารย์และนักศึกษาจะต้องเข้าร่วมในพิธี และยังจัดให้นักศึกษาพบปะพูดคุย กับบรรดาญาติของผู้บริจาคด้วย เพื่อให้แลกเปลี่ยนความรู้สึกร่วมกัน