กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี-ชาวบ้าน จัดเสวนาหาทางเก็บรักษาไม้พะยูง แหล่งสุดท้ายของโลกในภาคอีสานไว้ให้คนรุ่นหลัง สะท้อนปัญหารัฐไม่สามารถแก้ได้ลำพัง ส่วนชาวบ้านมองเป็นเรื่องปากท้อง และคนดีมักมีชีวิตไม่ยืนยาว
วันนี้ (28 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสร้างสุขอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของยูเสด จัดเสวนา “ไม้พะยูง สมบัติสุดท้าย ป่าไม้เมืองอุบล” โดยมีหน่วยงานด้านการอนุรักษ์รักษาป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาทางออกร่วมกัน
โดยนายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินการเสวนาได้ถามถึงสถานการณ์การตัดไม้พะยูงในไทย ซึ่งนายธวัชชัย ลัดกรูด ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 7 จ.อุบลราชธานี ระบุว่า ปัจจุบันการลักลอบตัดและขนย้ายไม้พะยูงออกจากเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการไม้ชนิดนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่าไม้พะยูงเป็นไม้มงคล ทำให้ไม้พะยูงเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูงที่สุด
จึงเป็นแรงจูงให้ชาวบ้านลักลอบตัด และขนย้ายออกจากป่า ให้นายทุนทำไม้ลำเลียงไปลงเรือข้ามแม่น้ำโขงเข้าประเทศลาว แล้วส่งต่อไปประเทศปลายทาง คือ จีนแผ่นดินใหญ่ แต่บางครั้งมีการแปรรูปนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทย โดยตั้งราคาขายแพงลิบลิ่ว
สำหรับ จ.อุบลราชธานี เป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง โดยผู้กระทำผิดจะต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพราะของกลางมีราคาสูง ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก
ด้านการปราบปราม ปัจจุบันมีการสนธิกำลังทั้งเจ้าหน้าที่อนุรักษ์รักษาป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร ตั้งหน่วยสกัดกั้น หน่วยติดตามจับกุมในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย ลาว และกัมพูชา และไม่สามารถใช้วิธีปราบปรามได้เพียงอย่างเดียว จึงมีความพยายามขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันดูแล
“ขณะนี้ ไม้พะยูง ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ พบมากบนเทือกเขาภูพาน และเทือกเขาพนมดงรัก ในภาคอีสานตอนล่าง เพราะพื้นที่มีกายภาพตรงกับความต้องการเติบโตของพันธุ์ไม้พะยูง โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติใน จ.อุบลราชธานี มีไม้พะยูงขึ้นตามธรรมจำนวนมาก เพราะมีสภาพอากาศ และพื้นดินที่เหมาะสมต่อการเติบโต”
แต่ปัจจุบันกำลังถูกคุกคามจากขวนการลักลอบตัดไม้มากขึ้น อนาคตเยาวชนอาจจะรู้จักแต่เพียงชื่อ ได้เห็นจากรูปถ่าย ถ้าไม่หยุดยั้งการลักลอบตัด พันธุ์ไม้พะยูงจะกลายเป็นเพียงตำนาน ที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมาเท่านั้น
ขณะที่ นายชาญชัย งามเจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี ได้กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ดูแลพื้นที่เขตอนุรักษ์อยู่ 6 จังหวัด และอุทยานแห่งชาติรวม 17 แห่ง อุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่มีไม้พะยูงอยู่มากที่สุด การทำงานเพื่อป้องกันและปราบปราม เจ้าหน้าที่ต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการตัดไม้ โดยผู้ปฏิบัติงานมีการจุดธูปสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ และไม่ไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงอย่างเด็ดขาด
สำหรับมาตรการป้องปราม คือ ตรวจค้นราษฎรทุกคนที่จะเดินเข้าป่าอย่างเข้มงวด เบื้องต้นชาวบ้านต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เข้าป่าไปทำอะไร เพราะไม้พะยูงอยู่บนภูเขา ถูกตัด และขนย้ายมาข้างล่างได้อย่างไร ถ้าไม่มีชาวบ้านมีส่วนช่วยเหลือ ทั้งการลักลอบตัด และขนย้าย ซึ่งประเด็นนี้เข้าใจเป็นเรื่องปากท้องของชาวบ้าน
การแก้ไขระยะยาวต้องชดเชยเรื่องสร้างอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ เช่น ปัจจุบันส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไผ่ สร้างองค์ความรู้ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญการมีไม้พะยูงอยู่ในป่า ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องทำงานให้หนักขึ้น มีการปรับแผนลาดตระเวนเข้มงวดถี่ยิ่งขึ้น สร้างจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์ พัฒนาประสิทธิภาพในการจับกุมให้เห็นความเชื่อมโยงของขบวนการตัดไม้ มีการเตรียมการอย่างไร เพื่อใช้ในการปราบปรามให้ได้ผลยิ่งขึ้น
ด้าน พ.ต.อ.วรัตถ์เอก สายแก้ว ผกก.สภ.โพธิ์ไทร กล่าวถึงการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดว่า มักได้ของกลางเป็นไม้กับรถยนต์ใช้บรรทุก ส่วนผู้ต้องหาหลบหนีการจับกุมไปได้ เพราะมีการวางแผนในขั้นตอนขนย้าย โดยมีคนดูต้นทาง มีแรงงานขนย้ายที่เป็นคนในท้องถิ่น สำหรับ อ.โพธิ์ไทร ไม่มีการลักลอบตัดไม้พะยูง แต่เป็นเส้นทางลำเลียงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อการจับกุมจึงได้แค่ของกลาง แต่ไม่ได้ตัวผู้กระทำผิด ทำให้ได้ใจทำการลักลอบกระทำผิดต่อเนื่อง เพราะมีแรงจูงใจจากรายได้ที่สูง บวกกับการลงโทษผู้ขนย้ายไม้ออกนอกประเทศ คือ การมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองเกินปริมาตรที่กฎหมายกำหนด และข้อหานำไม้พะยูงออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านการเสียภาษีศุลกากร เป็นอัตราการลงโทษที่น้อย คุ้มค่าต่อการเสี่ยง
นายวัฒนะ สารรัตน์ หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อบ.2 (ดงคันไทร) กล่าวถึงกระบวนการจับกุม และการทำงานของกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้พะยูง นอกจากตั้งจุดสกัดจับ ยังต้องประสานความร่วมมือกับชาวบ้าน เพื่อหาข้อมูลช่วงวันเวลาสถานที่ลักลอบนำไม้เข้าพื้นที่ ส่วนขบวนการลักลอบตัดไม้ก็มีการทำงานเป็นทีม ทั้งสืบข้อมูลความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ มีทีมขนย้ายจากจุดตัดมายังจุดขนออกนอกประเทศ ระหว่างการขนย้ายก็มีรถคุ้มกัน รถดูต้นทาง ถึงปลายทางก็มีทีมขนลงเรือ เรียกว่าทำงานเป็นขบวนการ
ช่วงฤดูฝนจะมีการขนย้ายไม้พะยูงมากที่สุด เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น ทำให้เรือใช้ขนไม้เข้าเทียบท่าง่ายกว่าหน้าแล้ง สะดวกต่อการขนย้ายลงเรือ ปัจจุบันไม้ที่มีการขนย้ายออกเป็นไม้เก่าที่ซุกซ่อนรอเวลาขนย้ายออก ส่วนไม้ตัดใหม่ขณะนี้มีน้อย การแก้ปัญหาต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนหวงแหนไม้พะยูง การจับเป็นแค่ปลายเหตุ ถึงเจ้าหน้าที่จะได้ผลงานการจับกุม แต่ความจริงก็คือ ไม้เนื้อแข็งหายากอายุนับร้อยๆ ปีได้ถูกตัดไปแล้ว
นายกมล ผู้ดำเนินรายการ ได้สอบถามจิตสำนึกกับคนในพื้นที่ ซึ่งนายศิรสิทธิ์ จรูญศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า วันนี้หลายคนมองไม้พะยูงคือ สมบัติของเมืองอุบลราชธานี และของชาติ แต่ชาวบ้านมองเป็นประเด็นเรื่องปากท้อง และการหารายได้ซึ่งสำคัญกว่า เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวบ้าน และที่ผ่านมา ชาวบ้านถูกทำให้รับรู้ว่าไม้พะยูงมีมูลค่าสูง แต่ไม่รู้ว่ามีคุณค่าอะไรบ้าง
ถ้าจะให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาไม้พะยูง ต้องให้ชาวบ้านเข้าใจว่าไม้พะยูงมีคุณค่า มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตอย่างไร และต้องยอมรับความจริง คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องธุระไม่ใช่ พลเมืองดีส่วนใหญ่อายุไม่ยืน สังคมไทยเกรงใจ และให้เกียรติคนมีเงินคนรวย ไม่ใช่คนดี
นายศิรสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตัวอย่างประธานป่าชุมชนที่ทำงานด้วยกัน ฐานะไม่ดี แต่มีจิตใจอาสา อยากทำประโยชน์ให้สังคม จึงสร้างเครือข่ายชาวบ้านเฝ้าระวัง และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มานานหลายปี มีชาวบ้านเพียงน้อยนิดไปพัวพันเกี่ยวข้องกับการลักลอบ เชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่รักธรรมชาติรักป่าไม้
แต่การทำงานด้วยจิตอาสา ต้องใช้ทุนตัวเองในการดูแลรักษาป่า แม้บางครั้งได้รับงบประมาณสนับสนุน แต่ไม่มาก ซึ่งการดูแลรักษาป่าไม้ คือ การรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน การแก้ปัญหาต้องหาแนวร่วม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ไม่เน้นเพียงมูลค่าไม้พะยูง แต่ไม้ทุกชนิดในประเทศไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะปัจจุบันพื้นที่ป่าเหลือน้อยมาก
ขณะที่ นายอำคา คงทน อดีตประธานชุมชนป่าบ้านนาหว้า ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร ให้ความเห็นที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยในกรณีตัดไม้พะยูง สำหรับชุมชนบ้านนาหว้ารวมตัวจัดตั้งป่าชุมชนตั้งแต่ปี 2539 เพราะรู้สึกรักหวงแหนป่า และต้นไม้ทุกต้น โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่แค่ชุมชนบ้านนาหว้า แต่ทุกคนในโลกได้รับประโยชน์ด้วยกัน เพราะถ้ามีป่าไม้ ก็ได้อากาศดี ส่งผลต่อสุขภาพที่ดี และลดภาวะโลกร้อน
ไม้พะยูงจัดเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นทรัพยากรที่เหลือน้อย และอยากให้คนรุ่นหลังเห็นเป็นต้นไม้เป็นๆ มากกว่าซากซุงกองเกลื่อนกลากอยู่ตามที่ต่างๆ
นายบัญชา รุ่งรจนา หัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูหล่น แสดงความเห็นว่า เรื่องการตัดไม้พะยูง มองแบบแยกมิติไม่ได้ เรื่องปากท้องก็สำคัญ เรื่องการบุกรุกตัดไม้ก็สำคัญ ต้องทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจการมีทรัพยากรป่าไม้เป็นเรื่องสำคัญ กรณีดงภูหล่น ปัจจุบันมีป่าชุมชนอยู่ 28 แห่ง มีเครือข่ายชาวบ้านที่ทำงานร่วมรณรงค์ทุกแห่ง
แต่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นพ่อแม่ ทำอย่างไรจะถ่ายทอดความรักหวงแหนป่าจากคนรุ่นเก่าสู่เยาวชนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญ และรับรู้เหมือนกัน ซึ่งต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องของหน่วยงาน หรือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน จึงฝากให้ร่วมกันคิดเพื่อให้ป่าไม้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเสวนาครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันใน จ.อุบลราชธานี พบการลักลอบตัดไม้พะยูงจากเขตป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ตามแนวชายแดน จึงเป็นห่วงว่าแหล่งไม้พะยูงแหล่งสุดท้ายของโลกที่อยู่ในประเทศไทย จะถูกทำลายจนหมด เพราะจากสถิติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2553 ประเทศไทยมีไม้พะยูงเหลืออยู่ทั้งประเทศประมาณ 80,000 ต้น โดยลดลงจากเมื่อ 3 ปีก่อนกว่า 50,000 ต้น
จึงมีการสนธิกำลังจากหน่วยปราบปรามทุกหน่วย เพื่อสกัดกั้นการลักลอบตัดทำลาย แต่ในวงการค้าไม้ยังมีความต้องการ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งชั้นดี มีลายไม้ที่สวยงาม เหมาะแก่การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมประดับยนต์ โดยใช้ตกแต่งรถหรูราคาแพง รวมไปถึงนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ และสิ่งสักการะตามความเชื่อ ทำให้แม้ไม้พะยูงจะมีราคาแพง แต่ในวงการค้าไม้ยังมีความต้องการ
โดยกระบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง เริ่มตั้งแต่คนนำทาง และทำหน้าที่ชี้จุดไม้พะยูงในป่า จะได้รับค่าตอบแทนต้นละ 5,000 บาท ส่วนทีมตัด และทีมชักลากไม้ออกจากป่า ได้รับยาเสพติดและค่าเหนื่อยต้นละ 10,000-20,000 บาท ส่วนทีมขนย้ายออกนอกประเทศ ได้รับค่าจ้างเป็นเที่ยวตามปริมาณไม้
ทำให้ไม้พะยูงแต่ละต้นมีค่าใช้จ่ายจากต้นทางเฉลี่ยต้นละ 50,000 บาท แต่เมื่อนำออกไปนอกประเทศไปแปรรูปจะมีมูลค่าสูงขึ้นอีก 100-200 เท่า จึงมีความพยายามลักลอบตัดไม้ใหม่ในป่า และหาซื้อไม้เก่ามารวมหมอนตามจุดต่างๆ เพื่อรอการขนย้ายออกไปนอกประเทศ
โดยกลุ่มค้าไม้พะยูงรายใหญ่ เป็นนักลงทุนจากภาคกลาง มีนักการเมืองระดับชาติคอยหนุนหลัง ใช้วิธีจ้างวานผ่านนักการเมืองท้องถิ่นระดับนายก อบต. ให้หาคนในพื้นที่ช่วยกันตัด ขนย้าย ไปถึงการนำออกไปนอกประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของรัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี