กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำการทำฟาร์มปศุสัตว์ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อลดเสี่ยงการต่อต้านจากชุมชนและเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายตลาดไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community หรือ AEC)
นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในอนาคตผู้ประกอบการปศุสัตว์ไทยจะต้องลงทุนด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมภายใต้กฏเกณฑ์ภาคบังคับ เรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ในวงเงินสูง เพื่อรองรับการขยายฟาร์ม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอื่นที่สำคัญอีก เช่น ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน ปัญหาโรคระบาด การขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่แน่นอนผันแปรตามสภาพดินฟ้าอากาศ ทำให้บางปีผลผลิตธัญญพืชน้อยลง ระบบโลจิสติกส์ และการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จะทำให้การขยายฟาร์มปศุสัตว์ในอนาคตเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น
“ปัจจัยต่างๆจะเป็นข้อจำกัดในการขยายฟาร์มในอนาคต และเป็นต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น และจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตด้วย” นายสมควร กล่าว
นายสมควร กล่าวว่า ซีพีเอฟ ต้องการแบ่งปันความรู้ในเรื่องการทำฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรของไทยสามารถเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในอนาคตลำดับแรกคือต้องคำนึงถึงคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและต้องลงทุนในด้านมาตรฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามกระแส Green Policy อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการฟาร์มจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มด้วยการลงทุนด้วยเม็ดเงินค่อนข้างสูงเพื่อให้ผ่านมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งกฏเกณฑ์นี้จะเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ประกอบการมาตรฐานเข้าสู่ระบบมากขึ้น
ขณะเดียวกันกฏหมายสิ่งแวดล้อมยังบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ตามเงื่อนไขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนการสร้างฟาร์ม เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบของชุมชนก่อนที่จะมีการขยายฟาร์ม ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของฟาร์มใหม่เช่นกัน เพราะชุมชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการขยายฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าไปใกล้ที่ดิน เนื่องจากปัญหากลิ่นและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะตามมาก เพราะเกรงว่าจะทำให้ราคาที่ดินในบริเวณที่มีการขยายฟาร์มเข้าไปมีราคาตกต่ำ ในทางกลับกันราคาที่ดินที่อยู่ในแหล่งการคมนาคมสะดวกก็มีราคาแพง
นายสมควร กล่าวอีกว่า ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคระบาดใหม่ การขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงงานที่สูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่มีแน่นอน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีปัญหาความไม่แน่นอนทั้งเรื่องต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และมีราคาสูง จะเป็นความเสี่ยงของภาคปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจคิดเป็น 65% ของต้นทุนการผลิต
นอกจากปัญหาความไม่แน่นอนของราคาผลผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์แล้ว ความผันผวนของราคาเนื้อสัตว์ก็ยังเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีระบบบริหารฟาร์มและบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีปัญหา
“เราพิจารณาจากเหตุผลหลายๆด้านแล้ว โอกาสที่ผู้ประกอบการรายเล็กจะขยายการลงทุนค่อนข้างยากลำบากมากขึ้น แม้แต่รายใหญ่เองก็จะต้องประสบกับปัญหาหลายด้านเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกับปริมาณสินค้าที่จะป้อนเข้าสู่ตลาดโดยตรง” นายสมควร ย้ำ
นายสมควร เสนอแนะว่า การที่ภาคปศุสัตว์ไทยจะอยู่รอดได้นั้น จะต้องปรับตัวหลายด้านด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์มเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงานสูง ส่วนปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์และมีราคาไม่แน่นอนนั้น อาจจะต้องมีการนำเข้าเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ตัวที่ขาดแคลน เช่น ไทยผลิตข้าวโพดได้ประมาณปีละ 4-5 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในประเทศและยังสามารถส่งออกได้บางส่วน ส่วนกากถั่วเหลืองนั้นยังต้องมีการนำข้าประมาณ 20% ของความต้องการในประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการยกระดับมาตรฐานฟาร์ม การเลี้ยง และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับมาตรฐานระดับนานาชาติแล้ว แต่การเดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นตัวผลักดันให้ไทยต้องเดินสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อผลิตอาหารคุณภาพเพื่อรองรับประชาคมโลกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ เช่น ถั่วเหลือง และพันธุ์สัตว์จากต่างประเทศ ส่วนพันธุ์สัตว์โดยเฉพาะไก่นั้นประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าพันธุ์ทั้งหมด เพราะไก่พันธุ์พื้นเมืองไทยโตช้าอาจจำทำให้ราคาในประเทศสูงได้ ส่วนสุกรถือว่าไทยได้พัฒนาไปมาก โดยบริษัทเอกชนหลายรายสามารถพัฒนาพันธุ์เป็นของตนเองเลยไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นจำนวนมากตลอดเวลา
จากข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ จะส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการฟาร์มรายย่อยจะต้องมีการปรับปรุงตัวอย่างมาก ซึ่งเกษตรกรรายย่อยก็ยังมีทางออกและสามารถอยู่รอดได้ โดยการรวมตัวเป็นกลุ่มตัวกันในรูปสหกรณ์ เช่นเดียวกันกับที่ปฏิบัติกันในยุโรป เพื่อให้เกิดความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดและเสริมสร้างความสามารถในการลงทุน หรืออีกแนวทางหนึ่ง คือการเป็นพันธมิตรกับบิษัทใหญ่ที่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและประสิทธิภาพทางการตลาดพร้อมที่จะถ่ายทอดให้ได้
นายสมควร กล่าวว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยการบริหารราคาสินค้าให้เป็นไปตามกลไกการตลาด วางแผนจัดสรรพื้นที่เพื่อการทำปศุสัตว์ในลักษณะของฟาร์มแบบผสมผสาน (Combination Farm) ระหว่างสัตว์กับพืช โดยเลือกพืชที่ต้องปุ๋ยจากปศุสัตว์ อีกทั้งรัฐบาลควรจะต้องมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและให้แรงจูงใจ (incentive) กับฟาร์มที่สามารถปฏิบัติมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้อย่างเคร่งครัด เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของประเทศให้สอดคล้องกับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดแผนป้องกันโรคระบาดระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวางมาตรฐานคุ้มครองโรคอย่างเข้มงวด