กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--โรงพยาบาลรามคำแหง
การตรวจลำไส้ใหญ่
(Barium Enema Study)
Barium Enema Study คืออะไร
เป็นการตรวจดูพยาธิสภาพและความผิดปกติของลำไส้ใหญ่โดยการสวนสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนักประกอบกับการถ่ายภาพรังสี
ข้อปฏิบัติในการเตรียมตัวก่อนตรวจ
1.ให้รับประทานอาหารอ่อน (เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม) ก่อนวันตรวจ
2.ให้รับประทานยาระบาย ตามที่แพทย์สั่ง ก่อนวันตรวจ
3.หลังเที่ยงคืนของวันก่อนตรวจ ให้งดน้ำและอาหารทุกชนิด (กรณีเด็กเล็กให้งดนมก่อนตรวจ 4 ชั่วโมง)
4.ถ้ามีฟิล์มเก่าหรือฟิล์มจากโรงพยาบาลอื่นให้นำมาด้วยทุกครั้ง
การดำเนินการก่อนตรวจ
1.ผู้ป่วยปฏิบัติตามใบนัดตรวจทุกประการ
2.เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล
3.เจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพรังสี 1 ภาพ เพื่อตรวจดูว่าในลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยมีกากอาหารตกค้างอยู่หรือไม่ ถ้าหากพบว่ายังมีอุจจาระตกค้างอยู่ไม่มากนัก อาจจะต้องทำการสวนอุจจาระออกให้หมด
ขณะทำการตรวจ
1.เจ้าหน้าที่จะใส่หัวสวนชนิดมีบอลลูน สวนเข้าในทวารหนักของท่านและจะบีบลมเข้าไปในบอลลูนเพื่อป้องกันไม่ให้สารทึบรังสีไหลย้อนกลับมา
2.เมื่อเริ่มตรวจจะเริ่มปล่อยสารทึบรังสีเข้าไปในลำไส้ใหญ่และรังสีแพทย์จะถ่ายภาพรังสีตามส่วนต่างๆที่ต้องการ
3.ระหว่างการตรวจผู้ป่วยอาจจะมีอาการแน่นท้องเนื่องจากการบีบสารทึบรังสีและลมเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกคล้ายๆปวดอุจจาระ ให้ผู้ป่วยกลั้นไว้ก่อน
4.ในระหว่างการตรวจรังสีแพทย์จะบอกให้ผู้ป่วยพลิกตัวและกลั้นใจนิ่งเพื่อถ่ายภาพรังสี ขอความกรุณาให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามเพื่อจะได้ภาพที่ต้องการและคมชัด
5.เมื่อได้ภาพรังสีครบตามความต้องการของรังสีแพทย์ เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ และหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จ ผู้ป่วยต้องกลับมาถ่ายภาพรังสีเพิ่มอีก 1 ภาพ จึงจะ จบสิ้นกระบวนการตรวจ
ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจ ประมาณ 1 ชั่วโมง
หลังการตรวจ
1.ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารได้ตามปกติ
2.สารทึบรังสีที่สวนเข้าไปในระหว่างการตรวจจะถูกขับถ่ายออกมาตามปกติ
หากท่านสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อสอบถามได้ที่
สายด่วนสุขภาพเบอร์โทร 0-2743-9999 ต่อ แผนกเอกซเรย์ 1151 , 1152