กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (ไทยเอสที) สวทน. เปิดตัว “ 4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต “และพิธีลงนาม MOU กับ 7 สถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรรองรับAEC และการพัฒนาประเทศ
สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) ภายใต้ สวทน. เปิดตัวนำร่อง “4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต” และพิธีลงนามความร่วมมือกับ 7 สถาบันการศึกษา โดยมี ดร.พีระพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการไทยเอสที ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จากแผนปฏิบัติการของยุทธศาสตร์ประเทศไทย ในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคการผลิตและบริการ การพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด และการพัฒนาสังคมและชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในงานยังมี 3 หุ่นยนต์ คือ นะโม น้องโอม และฮิวมานอยด์ มาร่วมงานท่ามกลางเยาวชนคนรุ่นใหม่ กว่า 1,000 คนที่มาร่วมงาน และจะเป็นกำลังคนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดให้มีการเปิดตัว “4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต” โดย สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) สถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในสาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ เพื่อสร้างความมั่นคงสำหรับอนาคตของประเทศ ไทยเอสที เป็นผู้กำหนดสาขาเทคโนโลยีและมาตรฐานคุณภาพบุคลากรที่ต้องการ และร่วมกับสถาบันการศึกษาในการออกแบบหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันการศึกษา จัดให้มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรองรับการเรียนการสอนและงานวิจัย รวมทั้งจัดตั้ง Industrial Service Unit เพื่อเชื่อมโยงและให้บริการกับภาคการผลิตและบริการ
ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) กำลังดำเนินการสร้างองค์ความรู้สาขาวิชาใหม่ที่เป็นความต้องการของภาคผลิตและบริการ และเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต (S&T for the future) เตรียมพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการแข่งขันกับนานาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไทยเอสที (THAIST) วางแผนการจัดการเรียนการสอนกับ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการปูทางเส้นทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับนักเรียนนักศึกษาอย่างน้อย 10 ปี และเส้นทางอาชีพที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษา เน้นในเด็กมีความสามารถและถนัดในด้านนั้นๆ มีการจัดงบประมาณและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะ รองรับการจัดการศึกษา การทำวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตกรรมในอนาคตโดยมีสาขาวิชาที่เปิดสอน เช่น นาโนเทคโนโลยี, เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotic & Automation), เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่ออนาคต, เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ, เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์, เทคโนโลยีการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรม (Design for Manufacturing and Innovation), เทคโนโลยีอุตสาหกรรมยางพารา, เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง, Simulation Technology for Climate Change, นวัตกรรมเพื่อการเกษตร (Innovation forAgriculture), นิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science), เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม, การจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Management) เป็นต้น โดยมี 4 หลักสูตรนำร่องที่สามารถเปิดให้มีการเรียนการสอนได้ในปี 2556 -2557 ได้แก่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง, นวัตกรรมเพื่อการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ ไทยเอสที (Thailand Advanced Institute of Science and Technology: THAIST) ภายใต้ สวทน. กล่าวว่า “4 หลักสูตรนำร่อง คือ 1.หลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง มีจุดประสงค์เพื่อผลิตวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ และดูดซับองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยไทยเอสที ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรเฉพาะทาง ออกแบบรายวิชา และสื่อการเรียนการสอนโดยมีการพิจารณามอบทุนการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และห้องปฏิบัติการล้ำสมัย เช่น ระบบเมืองจำลอง ระบบจำลองสถานการณ์การควบคุมความเร็ว เป็นต้น
สำหรับ หลักสูตรที่ 2 .นวัตกรรมเพื่อการเกษตร (การปรับปรุงพันธุ์พืช และการผลิตพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงแก่ภาคเอกชน สนองยุทธศาสตร์ประเทศ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยเน้นการปรับปรุงพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ลำไย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ให้ได้พันธุ์ใหม่ที่สามารถให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาการเพาะปลูก ต้านทานโรคและแมลง และมีคุณภาพด้านโภชนาการสูง สามารถสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตรงตามความต้องการของตลาดโลก และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ
หลักสูตรที่ 3.เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม (หลักสูตรทักษะวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์) มีจุดประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และช่วยลดต้นทุนการนำเข้ายาชีววัตถุและเพิ่มมูลค่าจากการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการปูทางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชียในอนาคต ยาชีววัตถุนั้นแตกต่างจากยาทั่วไปเพราะได้มาจากสิ่งมีชีวิต ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ เพื่อนำไปใช้รักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น กลุ่มโรคเมตาบอลิก (โรคอ้วนพันธุกรรม/โรคเบาหวาน) และกลุ่มโรคทางโลหิตวิทยา ได้แก่ โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไต โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
ส่วน หลักสูตรที่ 4.เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและการสร้างนวัตกรรม มีความพร้อมในการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงต่อไป และสามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีการนำไปประยุกต์ใช้ในงานหลายสาขา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์ หุ่นยนต์กู้ภัยและเก็บกู้ระเบิด หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา และหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกภายในบ้านและสำนักงาน เป็นต้น “
ในการนี้ สวทน. ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างไทยเอสที โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการไทยเอสที กับ 7 สถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม , วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม และ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสักขีพยาน