กรุงเทพ--10 ก.ย.--ปรส.
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ประกาศจำหน่ายสินทรัพย์หลักครั้งที่ใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่งในวันนี้สินทรัพย์ที่จำหน่ายในครั้งนี้ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทจากสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่งซึ่งมีจำนวนสินเชื่อทั้งหมดประมาณ 15,000 สัญญามูลค่ายอดลูกคงค้างประมาณ 4-5 แสนล้านบาท (1-1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ปรส. ได้แต่งตั้งบริษัทเลแมน บราเดอร์สเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการจำหน่ายสินทรัพย์หลักครั้งนี้
ปรส.จะจัดแบ่งกลุ่มสินเชื่อธุรกิจออกเป็นหลายกลุ่ม และได้ว่าจ้างบริษัทผู้ตรวจบัญชีอิสระที่มีชื่อเสียงในระดับสากลให้เป็นผู้กำหนดจำนวนสินเชื่อ ขนาด และองค์ประกอบของกลุ่มสินเชื่อในแต่ละกลุ่ม ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำอยู่ในขณะนี้ และจะประกาศให้นักลงทุนทราบ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลในภายหลัง สำหรับผู้สนใจเข้าประมูล สามารถหาข้อมูลได้ จากข้อสนเทศการจำหน่ายสินทรัพย์เบื้องต้นซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินเชื่อธุรกิจรวมทั้งขั้นตอนการประมูลโดยสามารถขอเอกสารดังกล่าวได้ ณ ที่ทำการปรส. หรือโดยการเปิดดูจากเว็บไซต์ของ ปรส. (www.fra.or.th.) ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2541 ผู้สนใจเข้าประมูลจะต้องยื่นแบบคำขอใช้แฟ้มข้อมูลพร้อมกับชำระค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งไม่สามารถขอคืนได้เพื่อรับแฟ้มข้อมูลการจำหน่ายที่จัดทำในรูป ซีดีรอม ซึ่งจะให้รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับสินเชื่อแต่ละสัญญาที่นำออกจำหน่ายปรส. จะเปิดห้องเก็บข้อมูล ซึ่งมีแฟ้มข้อมูลสินเชื่อและเอกสารข้อมูลอื่นๆ ทั้งหมดให้ผู้เข้าประมูลที่ยื่นแบบคำขอ และชำระค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ซึ่งไม่สามารถขอคืนได้รวมทั้งวางเงินมัดจำจำนวน 10 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว เข้าใช้บริการในห้องเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 ผู้เข้าประมูลจะต้องยื่นซองเสนอราคาสำหรับสินเชื่อ พร้อมกับวางเงินมัดจำการประมูล จำนวนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าแท้จริง (หรือยอดลูกหนี้คงค้าง) ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 เวลา 11.00 น. และ ผู้ชนะการประมูลจะสามารถลงนามในสัญญาซื้อขายได้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541
การประมูลสินเชื่อธุรกิจนี้จัดขึ้นหลังจาก ปรส. ได้ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสัญญาเช่าซื้อ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี นายอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานกรรมการ ปรส. กล่าวว่า "ภายหลังการจำหน่ายสินทรัพย์ครั้งนี้เสร็จสิ้นลง ปรส. จะสามารถขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้มากกว่าร้อยละ 90 ของสินทรัพย์ทั้งหมดการขายสินทรัพย์ของ ปรส. เป็นการนำสินทรัพย์จำนวนมากกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สินทรัพย์เหล่านั้นทำให้มีมูลค่า และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก และจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ การจ้างงาน และสร้างตลาดที่มีการแข่งขันสำหรับสินทรัพย์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมให้มีการทำธุรกรรมตามปกติเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ปรส. จะสามารถจำหน่ายสินทรัพย์ได้ภายในสิ้นปีนี้ตามที่กำหนดไว้ตามที่ได้รับมอบหมาย"
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เลขาธิการปรส. กล่าวว่า มูลค่ายอดลูกหนี้คงค้าง ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2541 กลุ่มสินเชื่อธุรกิจทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ50 ของมูลค่าของสินเชื่อทั้งหมด ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ สินเชื่อธุรกิจนี้ประกอบด้วย; สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วย สัญญาเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่ออุปกรณ์ เครื่องจักร หลักทรัพย์ รถยนต์ และอื่นๆ; สินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อุตสาหกรรม ธุรกิจขายปลีก โรงพยาบาล สำนักงาน และเพื่อการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ; ตั๋วเงินและวงเงินกู้ยืมต่างๆ กลุ่มสินเชี่อนี้ประกอบด้วยทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ในเบื้องต้น ในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูล (Due Diligence) ซึ่งจะต้องจัดทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกสัญญาซึ่งรวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลและจัดระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งตามระดับมาตรฐานสากล สำหรับการขายในตลาดแรกและตลาดรอง
นายวิชรัตน์ กล่าวเสริมว่า "การตรวจสอบข้อมูลของสินเชื่อธุรกิจที่มีความหลากหลายนี้จะต้องกระทำอย่างละเอียดกว่าการขายสินทรัพย์หลัก 2 ครั้งที่ผ่านมาทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ผลจากการตรวจสอบข้อมูล และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความต้องการของตลาด จากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศนั้น ทำให้ ปรส. สามารถจัดกลุ่มสินเชื่อได้เหมาะสม กับความต้องการของนักลงทุนหลายประเภท เช่น วาณิชธนากรและธนาคารพาณิชย์ กองทุน นักลงทุนและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนประกันความเสี่ยง (hedge funds) และนักลงทุนประเภทอื่นๆ
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 เป็นองค์กรอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 58 แห่งที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน และวันที่ 5 สิงหาคม 2540 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริต
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ดร. มนตรี เจนวิทย์การ (ปรส.) โทร. 263-3345-9 ต่อ 101 บริษัท เพรสโก้ แซนด์วิค (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 273-8800 โทรสาร. 273-8800 ไพโรจน์ ภาชนะปรีดาปีเตอร์ พูลอส ปองปรัชน์ สุโรจนะเมธากุล--จบ--