กรุงเทพฯ--29 ก.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในโอกาสฉลองครบรอบ 75 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญร่วมฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “วิศวกรรมการเงินว่าด้วยโครงการจำนำข้าวไทย” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2556 เวลา 08.30 - 16.30 น. ณ ห้อง 201 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
การบรรยายทครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์โครงการจำนำข้าวไทย โดยอ้างอิงศาสตร์ด้านวิศวกรรมการเงินและใช้หลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนเพื่ออภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างสรรค์
การบรรยายมีทั้งหมด 4 หัวข้อ
หัวข้อแรก “วิศวกรรมการเงินว่าด้วยโครงการจำนำข้าวไทย”
วิเคราะห์แล้วพบว่า ภายใต้โครงการจำนำข้าวไทย เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพิจารณาได้ว่า เป็นผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีออปชันแฝงซึ่งอ้างอิงมูลค่าของข้าวเปลือกเพื่อขายให้รัฐบาล จากนั้นจึงใช้ข้อมูลพฤติกรรมที่เป็นจริงของราคาข้าวเปลือก ประกอบกับทฤษฎีด้านวิศวกรรมการเงิน ไปคำนวณมูลค่าทางการเงินของโครงการ ไปประเมินความน่าจะเป็นที่รัฐบาลอาจเกิดผลขาดทุน และไประบุขนาดของผลขาดทุนที่รัฐบาลอาจต้องรับภาระในปีการผลิต 2556/2557
หัวข้อที่สอง “กลไกการกำหนดราคาข้าวในตลาดไทยและในตลาดโลก”
อ้างอิงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายระดับและการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาข้าวในตลาด รวมถึงผลกระทบจากโครงการจำนำข้าวที่อาจเกิดขึ้นต่อราคาข้าวในตลาดไทยและในตลาดโลก
หัวข้อที่สาม “เทคนิคการบริหารผลขาดทุนของโครงการจำนำข้าวไทย”
ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการจำนำข้าวอาจประสบผลขาดทุน ซึ่งผลขาดทุนที่รัฐบาลต้องรับภาระอาจมีระดับที่สูงมากหากราคาข้าวมีระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนสามารถบริหารจัดการได้ อย่างน้อยในหลักการ หากรัฐบาลจะพิจารณาใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สข้าวในตลาดซื้อขายล่วงหน้า สุดท้าย หัวข้อที่สี่ “หากต้องบันทึกบัญชีโครงการจำนำข้าว ตามหลักการ IAS 39” ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการของรัฐบาลซึ่งการบันทึกรายการค้าต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ดังนั้น ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับรายการค้าจึงค่อนข้างจำกัด หรือความเข้าใจอาจคลาดเคลื่อน เพราะมาตรฐานการบัญชีภาครัฐไม่เป็นที่ทราบแพร่หลาย แต่ใช้ในวงจำกัดเฉพาะภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายการค้าตามโครงการจำนำข้าวได้ดีและถูกต้องมากขึ้น
หัวข้อที่สี่ “การแสดงการบันทึกรายการค้าที่เกิดจากโครงการจำนำข้าว ตามหลักการ IAS 39”
โดยตีความให้โครงการจำนำข้าวเป็นการที่รัฐบาลเข้าไปมีฐานะซื้อในหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เกษตรกรเป็นผู้ออก และการบริหารผลขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวเป็นการใช้อนุพันธ์ทางการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยงของหุ้นกู้นั้น ทั้งนี้ ความเข้าใจที่ดีและถูกต้องมากขึ้นมาจากข้อความจริงที่ประชาชนมีความเข้าใจ และคุ้นเคยมากกว่าเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชี โดยสภาวิชาชีพบัญชี
ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายสามารถแจ้งความจำนงได้ทาง www.tbs.tu.ac.th จนถึงวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2556 ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม (ฟรี)
ติดต่อ:
นางสาวแพรวพรรณ เลิศบรรลือชัย
นักประชาสัมพันธ์ สังกัดศูนย์สื่อสารองค์กร
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โทรศัพท์: +662 613 2200 โทรสาร: +662 225 2109
E-mail : praewphan.l@tbs.tu.ac.th