กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--
มหกรรมอาเซียนสัญจร ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานครภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประจำปี 2556
พันธกรณีในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ในปี 2558 ของประเทศไทย ตามที่ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องร่วมกันนั้น โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเตรียม ความพร้อมของประชาชนชาวไทยต่อการรวมกลุ่มของภูมิภาคและภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดังปรากฏในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เกี่ยวกับการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยในส่วนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต่างให้ความสำคัญในการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อให้การเป็นประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างสมบูรณ์
การศึกษามีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการศึกษาเป็นกลไกในการปลูกฝังค่านิยม แนวความคิด ความเข้าใจกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอาเซียนและเศรษฐกิจโลก
กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืนตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน การศึกษาผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ และเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาเยาวชน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อความต้องการตลาดแรงงาน รวมทั้งสามารถแข่งขันได้ในเวทีภูมิภาคและโลก ได้มีการเตรียมการและดำเนินการในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติและภูมิภาค รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียม ความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ได้กำหนด 6 ประเด็นสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้เกิดผลอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ดังนี้
(1) การรณรงค์การใช้ภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอื่น
(2) การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน
(3) การผลิตและพัฒนาครู
(4) การเคลื่อนย้ายในอาเซียน
(5) การเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
(6) การจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้เรื่องอาเซียนและการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา จึงกำหนดจัดมหกรรมอาเซียนสัญจร 4 ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประจำปี 2556 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประชาคมอาเซียนและการส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษและส่งเสริมบทบาทเด็กและเยาวชนไทยในเวทีระดับนานาชาติ อันจะนำไปสู่การมีบทบาทนำและการเป็นประชาชนอาเซียนที่มีคุณภาพต่อไปด้วย โดยเป้าหมายของโครงการ ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาจากทั่วประเทศ
กิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ได้แก่
1. การจัด Workshop และการแข่งขันพูดภาษาอังกฤษในที่ชุมชน เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทย อายุระหว่าง 16 - 20 ปี ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้และเทคนิคด้านการพูดภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ
2. การจัด Workshop และการแข่งขันการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 14-18 ปี ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ด้านการเขียนภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง
3. การแข่งขันสะกดคำภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อฝึกฝนทักษะด้านการฟัง การสะกดคำ และการเขียนคำภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด
ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันทั้ง 3 กิจกรรม จะได้รับทุนศึกษาดูงานในต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการจัดสถานีกิจกรรมฐานความรู้สู่ประชาคมอาเซียน เป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน โดยผ่าน 4 สถานีกิจกรรม ประกอบด้วย
1) สถานี Knowing ASEAN นำเสนอข้อมูลที่สำคัญและโดดเด่น ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
2) สถานี Food & Currency in ASEAN เสริมสร้างการรับรู้ถึงวัฒนธรรมของประเทศในอาเซียนผ่านอาหารที่โดดเด่นของแต่ละประเทศ และเรียนรู้เศรษฐกิจของอาเซียนผ่านสกุลเงินตราของแต่ละประเทศ
3) สถานี Mobility in ASEAN สร้างการรับรู้เรื่องการเคลื่อนย้ายนักเรียน นักศึกษา แรงงานฝีมือและบริการวิชาชีพใน 7 สาขาวิชาชีพ และ 1 สาขางานบริการ ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ช่างสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และสาขาบริการท่องเที่ยว
4) สถานี Do you know AC? เรียนรู้เรื่องอาเซียนและประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
กำหนดการดำเนินกิจกรรม
ครั้งที่ 1 พิธีเปิดโครงการฯ และกิจกรรมรอบภาคกลางและ กทม.
วันที่ 25 — 26 กรกฎาคม 2556 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์พาร์ค กทม.
ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันที่ 8 — 10 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
ครั้งที่ 3 ภาคใต้
วันที่ 22 — 24 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมเค พาร์ค แกรนด์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
ครั้งที่ 4 ภาคเหนือ
วันที่ 5 — 7 กันยายน 2556 ที่โรงแรมลำปางเวียงทอง จังหวัดลำปาง
ครั้งที่ 5 รอบชิงชนะเลิศ
วันที่ 28 กันยายน 2556 ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
เยาวชนผู้สนใจสามารถสมัครร่วมกิจกรรมต่างๆ ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2556 ภาคใต้ ภายในวันที่ 16 สิงหาคม 2556 และภาคเหนือ ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2556
ดูรายละเอียดที่ www.bic.moe.go.th หมายเลขโทรศัพท์ 0 2281 6370 ต่อ 108 - 110 และ 122