กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--วธ.
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 เวลา 10.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดงาน 1 ทศวรรษ เพชรในเพลง และงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2556 และทอดพระเนตรการแสดงดนตรี 1 ทศวรรษ เพชรในเพลง โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย และเหล่าศิลปินรางวัลเพชรในเพลง เฝ้ารับเสด็จฯ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ นายสนธยา กล่าวว่า เนื่องในวันภาษาไทย พุทธศักราช 2556 กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จำนวน 23 ท่าน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย 2 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์ประภาศรี สีหอำไพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ 2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น 10 ราย อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา รองศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ นายสุรินทร์ แปลงประสพโชค 3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น 6 ราย อาทิ รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล นายบุญศรี รัตนัง นายประมวล พิมพ์เสน และ4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย 5 ราย อาทิ รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) รวมทั้งมอบรางวัลให้แก่ศิลปินในโครงการประกวดเพลง (เพชรในเพลง) อีกจำนวน 23 ท่าน อาทิ เพลงสายลมแห่งรัก ผู้ขับร้อง นายชลาทิศ ตันติวุฒิ (เบน ชลาทิศ) เพลงรักนี้มีกรรม ผู้ขับร้อง นายสุธิราช อุสุภะ (กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ อาร์สยาม) และเพลงแค่หลับตา ผู้ขับร้อง นางสาวหนึ่งธิดา โสภณ เป็นต้น
“กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดงานภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ ด้วยการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมาและวัฒนธรรมอันยาวนาน ตลอดจนการสืบสานภาษาไทยให้คงอยู่สู่อนุชนรุ่นหลังสืบไป ขณะเดียวกัน ภาษาไทยถือเป็นรากทางวัฒนธรรมของไทย ที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง การที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลเนื่องในวันภาษาไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการช่วยกันจรรโลงเรื่องการใช้ภาษาไทยในทุกมิติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
นายสุรินทร์ แปลงประสพโชค ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ประจำปี 2556 กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ สื่อภาษากันแบบผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะการใช้คำแสลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น เช่น คำว่า “จุงเบย”หากมีการสื่อความหมายด้วยคำเหล่านี้แล้ว คนๆนั้นจะต้องมีฐานการใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และจะต้องชักนำผู้อื่นให้เข้าใจคำที่ถูกต้องด้วย และหากมีการปลูกฝังฐานภาษาให้แน่นหนาแล้วคำแสลงทั้งหลายมักจะเป็นเสน่ห์ในการดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาษาไทย ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากที่สุดของคนไทย เนื่องจากคนไทยทุกคนได้เรียนรู้และปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด อีกทั้งความเป็นชาติจะดำรงอยู่ได้ด้วยภาษา
ด้าน นายบำเรอ ผ่องอินทรกุล (โน้ต เชิญยิ้ม) ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประจำปี 2556 กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าประเทศไทยเรากำลังตกเป็นเมืองขึ้นทางด้านวัฒนธรรมของชนชาติอื่นอยู่ แต่ในเรื่องการใช้ภาษาไทย ทั้งการพูดหรือการเขียนของเราเราจะต้องช่วยกันรักษา ผมอาจจะไม่เก่งภาษาไทย เหมือนคนอื่น ความรู้ก็ไม่เยอะ แต่ภาษาแรกที่ผมพูดได้และรักคือภาษาไทย เพราะเป็นรากเหง้าความเป็นไทย ผมมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ เค้าบอกว่าเวลาฟังคนไทยพูดเหมือนกับได้ฟังเพลง เพราะภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์เอก โท ตรี จัตวา มีเสียงหนัก เสียงเบา มีท่วงทำนองซึ่งชาวต่างชาติชอบมาก แต่ถ้าให้ชนชาติอื่นพูดภาษาไทยเค้าจะพูดแบบตรงๆเสียงเดียวกันหมด ดังนั้น เป็นความภูมิใจของคนไทยที่เกิดมามีภาษาเป็นเอกลักษณ์และเป็นรากเหง้าความเป็นไทย”