บทความ: เตรียมรับมือผลกระทบน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล

ข่าวทั่วไป Wednesday July 31, 2013 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น บทความ เตรียมรับมือผลกระทบน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุน้ำมันดิบปริมาณ 50,000 ลิตร รั่วไหลออกจากท่อขนส่งลงสู่ทะเลจังหวัดระยองในขณะที่มีการส่งถ่ายจากเรือไปยังทุ่นรับน้ำมันดิบเพื่อส่งไปยังโรงกลั่นของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล โดยจุดที่น้ำมันรั่วไหลอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ขณะที่เขียนบทความนี้ มีคราบน้ำมันถูกชัดเข้าฝั่งบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด กินพื้นที่ยาวกว่า 600 เมตร คราบน้ำมันมีความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร บางส่วนลอยอยู่เป็นระยะๆ มีลักษณะคล้ายฟิล์มบางๆ จากฝั่งออกไปในทะเลอีกประมาณ 200 เมตร โดยบริษัทได้ระดมเจ้าหน้าที่มากกว่า 300 คน ทำการฉีดพ่นน้ำยาเคมีปริมาณ 35,000 ลิตร เพื่อไปทำปฏิกิริยาให้คราบน้ำมันสลายตัว ส่วนคราบบนทรายชายหาดนั้น เจ้าหน้าที่ใช้กระดาษฟิล์มซับน้ำมันและใช้พลั่วตักใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปทิ้ง ซึ่งประเมินว่าต้องใช้เวลาในการกำจัดคราบน้ำมันอย่างน้อย 15 วัน ชายหาดจึงจะคืนสู่สภาพปกติ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ คาดการณ์ผลกระทบในระยะสั้นต่อบุคคลสองกลุ่ม คือ ผู้ปฏิบัติงานกำจัดคราบน้ำมันและผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นซึ่งสัมผัสโดยตรงหรือใกล้ชิดกับน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมา อาจมีอาการผิดปกติของระบบผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบอื่นๆ ซึ่งมักจะเกิดอาการผิดปกติหลังจากการสัมผัสถูกผิวหนัง การได้รับไอระเหยของน้ำมันดิบทางลมหายใจหรือการดื่มน้ำหรืออาหารที่มีสารจากน้ำมันดิบปนเปื้อน ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ ซึ่งควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพฯ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีคราบน้ำมัน หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในบริเวณนั้น ต้องมีเครื่องป้องกันไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับคราบน้ำมันและไอน้ำมัน คือ ควรสวมชุดป้องกัน รองเท้าบูทยาง ถุงมือ แว่นตา หน้ากากป้องกันไอสารพิษ เมื่อเข้าไปในพื้นที่ ควรระวังการลื่นหกล้ม ไม่ควรใช้ความรู้สึกกลิ่นการสูดลมหายใจเพื่อพิจารณาว่าในบริเวณนั้นปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากไอของสารหลายชนิดไม่มีกลิ่น ควรหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการลุกไหม้ติดไฟ เช่น การสูบบุหรี่ การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟ หากสัมผัสกับคราบน้ำมัน ควรรีบล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดทันที หรือในกรณีที่อยู่ในบริเวณที่มีไอระเหยของน้ำมัน ควรออกจากพื้นที่ หากมีอาการระคายเคืองตา จมูก คอ มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรพบแพทย์ทันที ส่วนการกำจัดคราบน้ำมันตามสถานที่ต่างๆ นั้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกฝนและมีอุปกรณ์เครื่องมือเข้ามากำจัดอย่างถูกวิธี ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการกำจัดคราบน้ำมันหรือทำความสะอาดสถานที่ด้วยตนเอง เพื่อลดโอกาสการได้รับสารพิษและผลกระทบที่อาจเกิดต่อสิ่งแวดล้อมในภายหลัง นอกจากผลกระทบในระยะสั้นแล้ว การรั่วไหลของน้ำมันดิบยังอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยน้ำมันดิบประกอบไปด้วยสารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารพิษอยู่จำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) รวมอยู่ด้วย โดยสารก่อมะเร็งในน้ำมันดิบที่สำคัญ ได้แก่ เบนซีน (Benzene) และสารในกลุ่ม โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ “พี เอ เอช” (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAH) สารตัวแรกซึ่งได้แก่ เบนซีน นั้น มีพิษต่อระบบเลือดและก่อให้เกิดมะเร็งของเม็ดเลือดได้ อย่างไรก็ดี เบนซีนเป็นสารที่สามารถระเหยเป็นไอได้อย่างรวดเร็ว จึงมักจะระเหยสู่บรรยากาศก่อนที่คราบน้ำมันจากทะเลจะลอยเข้าสู่ชายฝั่งหรือบริเวณที่ประชาชนอยู่อาศัย อีกทั้งเบนซีนไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและในตัวมนุษย์นาน จึงมักไม่เกิดการสะสมในร่างกาย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติจากพิษของเบนซีนในระยะยาวจึงมีไม่มากนัก สารตัวที่สองได้แก่ สารในกลุ่ม พี เอ เอช ซึ่งสารกลุ่มนี้ตรวจพบได้ทั่วไปจากกระบวนการเผาไหม้ จากควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ กระบวนการปรุงอาหารและแปรรูปอาหาร สารกลุ่ม พี เอ เอช นี้มีพิษ อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังและมะเร็งปอด รวมทั้งสามารถตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายมนุษย์ได้เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายเมื่อได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นสารในกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น นอกเหนือจากสารพิษต่างๆ ที่อยู่ในน้ำมันดิบแล้ว สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือการสลายคราบน้ำมัน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าผู้ที่กำจัดคราบน้ำมันใช้สารชนิดใดและมีความเป็นพิษหรือไม่ โดยปกติ เมื่อน้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเล น้ำมันจะลอยแยกชั้นปกคลุมผิวน้ำ ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถขึ้นมาหายใจหรือหากินได้ตามปกติ รวมทั้งบดบังแสงสว่างทำให้พืชน้ำบริเวณชายหาดไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ดังนั้นจึงมีการนำสารที่มีฤทธิ์ทำให้น้ำมันสามารถละลายในน้ำได้มาใช้ในการสลายคราบน้ำมัน เมื่อน้ำมันดิบละลายไปกับน้ำทะเล สารพิษบางส่วนในน้ำมันดิบระเหยเป็นไอสู่บรรยากาศ สารพิษที่เหลือจะละลายไปกับน้ำทะเลและยังคงหมุนเวียนอยู่ในระบบนิเวศน์ โดยสารเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสาหร่ายทะเลจำนวนมากหลายชนิดรวมทั้งชนิดที่มีพิษด้วย นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักและสารอีกบางส่วนจากน้ำมันดิบตกลงสู่พื้นทะเลและเกิดการสะสมอยู่ในบริเวณนั้น โดยปกติแผ่นหินพื้นทะเลมีบทบาทในระบบนิเวศน์ ช่วยในการดูดซับสารหนู (arsenic absorption) ที่กระจายอยู่ในทะเล แต่เมื่อมีสารจากการสลายคราบน้ำมันดิบตกลงไปเคลือบบนแผ่นหินพื้นทะเล สารเหล่านี้อาจรบกวนการดูดซับสารหนูจากทะเลสู่แผ่นหิน ทำให้มีการสะสมสารหนูในสัตว์ทะเลสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่บริโภคอาหารทะเลในท้ายที่สุด การรั่วไหลของน้ำมันดิบสู่ทะเลไม่เพียงแค่ส่งผลด้านสุขภาพร่างกายเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนในบริเวณนั้นอีกด้วย เนื่องจากมีการสูญเสียสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติไปอย่างมาก ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพหรือไม่สามารถอยู่อาศัยในที่พักได้ตามปกติ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบอาจมีอาการซึมเศร้า มีการดื่มแอลกอฮอล์และมีการกระทบกระทั่งกับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพแนะนำประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุดังกล่าว สังเกตอาการผิดปกติของตนเองและบุคคลในครอบครัวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควรตระหนักถึงผลทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยใส่ใจกับการตรวจสุขภาพเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านจิตใจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบริเวณที่เคยอยู่อาศัยที่อาจจะแตกต่างไปจากเดิมและอาจมีผลต่อการประกอบอาชีพ รวมทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยห่างออกมาจากบริเวณที่มีคราบน้ำมันและไม่แน่ใจว่าตนเองจะได้รับกระทบหรือไม่ ควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เป็นระยะๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ