“พงษ์ศักดิ์” เปิดเวทีให้ความรู้ระบบสัมปทานสู่มหาลัย แจงไทยได้ประโยชน์ลดนำเข้าพลังงาน-พัฒนาอุตฯต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2013 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “ พงษ์ศักดิ์ ” เปิดองค์ความรู้เจาะกลุ่มมหาวิทยาลัย แจงระบบสัมปทานในประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งทางตรง - อ้อม ลดนำเข้าพลังงานปีละกว่า 5 แสนล้านบาท เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภาพรวม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง “ระบบสัมปทานปิโตรเลียม รัฐได้ประโยชน์อย่างไร” ซึ่งจัดโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงได้แก่ การลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ ลดการนำเข้าพลังงานได้ปีละกว่า 500,000 ล้านบาท ส่วนทางอ้อมสามารถช่วยสร้างงานให้กับประชาชนในประเทศ โดยเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆของประเทศในภาพรวม ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เห็นได้จากการใช้พลังงานที่ใช้ในประเทศส่วนใหญ่ร้อยละ 81 มาจากปิโตรเลียม ส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีคุณสมบัติที่สูงเพียงพอ จะนำมาแยกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี รวมถึงยังส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยยังสามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซหุ้งต้ม(แอลพีจี) เพื่อใช้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เร่งรัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด โดยพบว่าการสำรวจพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย มากกว่า 60 แหล่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 -2555 โดยมี 1) การผลิตก๊าซธรรมชาติไปแล้วจำนวนกว่า 17.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต 2) ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือที่เรียกว่าคอนเดนเสท 490 ล้านบาร์เรล และ 3) น้ำมันดิบ 672 ล้านบาร์เรล โดยปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมานี้ ได้ก่อเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ ทั้งในด้านรายได้เข้ารัฐ ในรูปของค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เป็นจำนวนเงินถึงกว่า 1.32 ล้านล้านบาท (โดยในปี 2555 รัฐสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 160,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ในการเปิดสัมปทานยังจะต้องเป็นรูปแบบการเปิดกว้างและควรให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีความเสี่ยงสูงและต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ซึ่งการดึงนักลงทุนต่างประเทศยังสร้างประโยชน์ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยอีกด้วย ประกอบกับแหล่งก๊าซใน 2 อ่าวไทยมีปริมาณสำรองไม่มากและโครงสร้างทางธรณีวิทยาของแหล่งก๊าซในอ่าวไทยเป็นแหล่งเล็กทำให้ต้องลงทุนสูงในด้านเทคโนโลยีการผลิตปิโตรเลียม ดังนั้นเงื่อนไขในการเปิดสัมปทานหรือการเรียกเก็บค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้ จะต้องมีความเหมาะสม หากเรียกเก็บสูงเกินไปจะส่งผลให้ไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนเนื่องจากมีความเสี่ยงและไม่คุ้มค่า จึงไม่สามารถจัดเปรียบเทียบหรือมีการเรียกเก็บผลประโยชน์เข้าภาครัฐในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศโบลีเวีย และเวเนซุเอล่า ที่มีบางกลุ่มพยายามจะเปรียบเทียบการจัดเก็บผลประโยชน์ระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ สำหรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศในอนาคต คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยเร่งรัดจัดหาปิโตรเลียมจากทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเติบโตทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและยอมรับในการดำเนินการต่อการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ