กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--กรมควบคุมโรค
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ ขณะนี้จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ล่าสุดวันที่ 30 ก.ค. 2556 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 87,533 ราย เสียชีวิต 83 ราย โดยพบว่าพื้นที่ที่มีผู้ป่วยและมีการระบาดยืดเยื้อต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ในระยะนี้ลดลงไปเรื่อยๆ เผย!ในหลายพื้นที่มีทั้งความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้เป็นนวัตกรรมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมากมาย แต่จะให้ได้ผลชุมชนต้องร่วมมือกันปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมงานควบคุมป้องโรคไข้เลือดออกที่จังหวัดนครสวรรค์ว่า ถึงแม้ขณะนี้ จ.นครสวรรค์ จะไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรง แต่ยังมี 3 อำเภอที่มีการแพร่ระบาดของโรคและสถานการณ์น่าเป็นห่วง ได้แก่ อำเภอชุมตาบง ไพศาลี และ เมืองนครสวรรค์ กระทรวงสาธารณสุขนำโดยกรมควบคุมโรค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ระดมกำลังลงพื้นที่อำเภอดังกล่าว เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยได้ทำการฉีดพ่นฆ่ายุง 3 ครั้งต่อเดือน คือ วันที่ 0, 3 และ 10 เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของผู้ป่วย ซึ่งมาตรการนี้จะทำอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีการระบาด
ส่วนหมู่บ้านที่ไม่มีการระบาดของโรคจะไม่ใช้วิธีการฉีดพ่นฆ่ายุง แต่จะรณรงค์ให้ชาวบ้านปฏิบัติตามมาตรการ 5ป. 1ข. อย่างต่อเนื่อง และเพิ่มอีก 1 ท. คือ ทายากันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด คาดว่าขณะนี้มีกว่า 1 หมื่นหมู่บ้านที่ไม่มีผู้ป่วยไข้เลือดออก แต่อย่าได้ประมาทหรือชะล่าใจเด็ดขาด เพราะหากเคยเป็นพื้นที่มีการระบาด อาจจะมีการระบาดซ้ำได้อีก
จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไข้เลือดออกตามจังหวัดต่างๆ และจากงานมหกรรมภูมิปัญญาไทยต้านภัยไข้เลือดออก 4 ภาค กรมควบคุมโรคได้รวมรวบคู่มือความรู้และนวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้านในการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีการปฏิบัติต่างๆอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดยุงพาหะตัวเต็มวัยด้วยการฉีดพ่นเคมีด้วยเครื่องพ่น น้ำยาล้างจาน แชมพู ไม้ช๊อตยุงไฟฟ้า กับดักยุงแสงไฟ ถังดักยุงตัวเต็มวัย รวมทั้งการใช้เกลือแกง ผลมะกรูด ปูนแดง น้ำขึ้เถ้า กระชอน สวิงกับดักลูกน้ำ ถุงทรายมหัศจรรย์ ถุงทรายพิชิตลูกน้ำ และอิฐมอญเผาไฟ ที่สามารถป้องกันการเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงได้นาน ประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ยังมีเครื่องเคาะโอ่งและไฟฉายขยายร่าง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่นำมาใช้ในการตรวจดูลูกน้ำยุงลายตามภาชนะต่างๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เป็นดัชนีที่สามารถชี้บอกถึงสถานการณ์การเกิดและแพร่กระจายของโรคได้
อย่างไรก็ตามการนำนวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ และการจะใช้นวัตกรรมต่างๆอย่างได้ผลที่สำคัญอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจปฏิบัติกันอย่างจริงจังของทุกคนในชุมชน จึงจะสามารถลดประชากรยุงพาหะลงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของโรคในชุมชน และเมื่อทุกชุมชนไม่มีโรค ประชาชนทั่วทั้งประเทศก็ย่อมปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกในที่สุด
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวแนะนำในตอนท้ายว่า เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด ต้องปฏิบัติโดยการนอนในมุ้ง และระวังอย่าให้ยุงกัด ในระยะนี้หากท่านหรือบุตรหลานมีอาการไข้สูงลอย 2-3 วันไม่ลด คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดแดงๆเลือดใต้ผิวหนังให้รีบไปพบแพทย์ ก่อนที่จะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต และภายหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยซึมลง กิน ดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที หรือถ้ามีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333
ด้าน นพ.ชัยรัตน์ เตชะไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 นครสวรรค์ กล่าวว่า สถานการณ์ไข้เลือดออก จ.นครสวรรค์ในระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยสะสม จำนวน 1,325 ราย เสียชีวิต 2 ราย ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตโรคไข้เลือดออกเพิ่ม ในขณะที่ช่วงนี้เริ่มมีฝนตกชุกมากขึ้นและอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนยุงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน สถานศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมมือกันกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งในบ้านและพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ชุมชน ตลาดสด สถานีขนส่ง และสวนสาธารณะ รวมถึงประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้ยุงลายกัด ซึ่งถือได้ว่าที่ผ่านมาในพื้นที่มีการป้องกันควบคุมโรคได้ทันเวลาและต่อเนื่อง
นายวสันต์ สอดสี ประธานชุมชนไชยศิริ เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ บอกว่า เนื่องจากชุมชนไชยศิริเป็นชุมชนในเขตเมืองมีสภาพแวดล้อมค่อนข้างแออัด อาจเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทางชุมชนจึงเริ่มมีการรณรงค์ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีของการดำเนินงานจะเน้นให้ อสม. ลงพื้นที่ทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในการตรวจลูกน้ำยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกหลังคาเรือนในชุมชน ทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จกลายเป็นชุมชนที่ปลอดลูกน้ำยุงลายและปลอดโรคไข้เลือดออก ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชาวบ้านในชุมชน อสม. เทศบาลนครนครสวรรค์ และ สคร. 8 ที่ได้ให้ความรู้แนะนำวิธีการและนวัตกรรมต่างๆในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งทำให้กลุ่ม อสม.ได้นำไปปฏิบัติและถ่ายทอดให้ชาวบ้านอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง