กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 (National Science and Technology Fair 2013) ภายใต้แนวคิด ‘‘ทันโลกทันวิทย์ จุดประกายความคิด สู่อาเซียน’’ อย่างยิ่งใหญ่ เต็มพื้นที่ไบเทค บางนา พบกับกิจกรรมไฮไลท์ตื่นตา ตื่นใจ ไปกับโลกวิทยาศาสตร์ ระหว่างวันที่ 6 - 21 สิงหาคมนี้ และผนวกงานเทคโนมาร์ท ระหว่าง วันที่ 14 - 18 สิงหาคม ที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์
จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจามจุรีสแควร์ - 31 กรกฎาคม 2556 : ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2556 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ในปี 2556 ยังถือเป็นการร่วมฉลองปีสากลแห่งความร่วมมือเรื่องน้ำ ตามมติขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้มีการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งปีระดับประเทศ และแถบภูมิภาคเอเชีย
การจัดแสดงปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ระดับอาเซียน เน้นนำเสนอผลงานความก้าวหน้า และศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มากกว่า 150 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงาน จากกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม, และ 16 หน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ,หน่วยงานเอกชน ชมรมและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นิทรรศการต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย รวมทั้ง ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ในการที่จะนำนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์มาจัดแสดงในงานเป็นจำนวนมากเต็มพื้นที่ไบเทค บางนา ในปีนี้พิเศษกว่าทุกปีจะผนวกงานเทคโนโลยีของไทย (เทคโนมาร์ท) ประจำปี 2556 เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเพื่อเผยแพร่ผลงานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทยและสร้างโอกาสการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว
กิจกรรมดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมใหม่ๆ แก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป และเพื่ออัพเดทความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ และศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย พร้อมกับจุดประกายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ให้ตระหนักถึงความสำคัญและการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทย และเตรียมพร้อมกับการพัฒนาสู่การเปิดเสรีอาเซียนไปพร้อมๆ กัน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง ความยิ่งใหญ่ของงานในครั้งนี้ว่า ภายในงาน มีการแบ่งกิจกรรมออกเป็นหลากหลายโซน บนพื้นที่ 42,000 ตารางเมตร เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม รับสาระความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ทุกคน
ตั้งแต่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมอบรางวัลพระราชทานนักวิทยาศาสตร์ไทยดีเด่น การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุม สัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive กับนิทรรศการรูปแบบ 4D (4 มิติ) เพื่อสร้างความตื่นตา เร้าใจ และสนุกสนาน เพื่อเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ
โซนนิทรรศการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์
โซนนิทรรศการพลังงานเพื่ออนาคต Hi-Light Live Action Theatre เรื่อง วิกฤติพลังงาน รวมพลังกู้โลก เทคนิคการถ่ายทำบน “กรีนสกรีน” ให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมในการแสดงบทบาท ฮีโร่ช่วยโลกจากวิกฤติพลังงาน
โซนนิทรรศการ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและสิ่งแวดล้อม” หรือ ClimateChange เป็นการนำเสนอสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและ ผลกระทบต่าง ๆ ซึ่ง High light ของนิทรรศการนี้ เช่น การ Mapping ลูกโลกที่แสดงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง, เกมส์ Interactive กำจัดก๊าซช่วยโลก เป็นต้น
โซนนิทรรศการ “วิกฤตอาหาร” Hi-Light เป็นการจำลองเทคโนโลยีฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ระบบปิด การจัดแสดงเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลการผลิต
นิทรรศการ“เทคโนโลยีการแพทย์และยา” โรคภัยไข้เจ็บและโรคอุบัติใหม่, แสดงโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆและสาเหตุอันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ วิวัฒนาการทางการแพทย์ (ครั้งแรกของโลก), แสดง Timeline วิวัฒนาการทางการแพทย์ทั้งเรื่องยาและการรักษาที่เป็นครั้งแรกของโลก เทคโนโลยีในการรักษา, แสดงเทคโนโลยีและกรรมวิธีในการรักษาคนไข้แบบต่างๆทั้งในส่วนของยา, เครื่องมือแพทย์, และแพทย์ทางเลือก 4 นวัตกรรมทางการแพทย์, แสดงงานวิจัยและเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะหยุดยั้งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ Hi-Light เครื่อง Kinetic X-ray เป็นเครื่องมือที่ใช้ Kinetic Sensor จับการเคลื่อนไหวของผู้เล่น แล้วแสดงผลเป็นโครงร่าง (โครงกระดูก) บนหน้าจอ
นิทรรศการ“ภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมการจัดการน้ำ” Hi-Light Simulator เรื่อง การเดินทางของน้ำร่วมผจญภัยตามสายน้ำไปกับ 4D Simulator ที่จะพาผู้ชมไปดูตั้งแต่ต้นกำเนิดของสายน้ำไปจนถึงมหาสมุทร
นิทรรศการ“เทคโนโลยีสารสนเทศ” นำเสนอทุ่นเตือนภัยสึนามิ เป็นหนึ่งในหลายๆอย่างของเทคโนโลยี ที่นำมาใช้เพื่อการตรวจหาเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เพื่อจะได้เตือนและเตรียมการป้องกันล่วงหน้า Hi-Light Halogram เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ
โซนนิทรรศการ “เทคโนโลยีอุตสาหกรรม” Hi-Light Car Mapping แสดงส่วนประกอบของรถยนต์ที่เชื่อมโยงไปยัง 5 อุตสาหกรรมหลัก ของประเทศ คือ อุตสาหกรรมยาง สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์พลาสติก และโลหะ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเยาวชน ก็มีให้เลือกหลากหลาย อาทิ การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนักวิทยาศาสตร์น้อย ระดับชั้น ป.5 - ป.6, การแข่งขันกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมตอนต้นและตอนปลาย, การประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ, การประกวดวาดภาพการ์ตูน และวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวต่อว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ มีการดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้ทันสมัยขึ้น เพิ่มกิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย ได้ร่วมสนุกและทดลอง โดยมีนิทรรศการและกิจกรรมเด่นๆ ที่ไม่ควรพลาดจากหน่วยงานต่างๆของกระทรวง อาทิ ในแต่ละหน่วยงานของกระทรวงวิทย์ทั้ง 16 หน่วยงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จะมีหัวข้อนิทรรศการ เทคโนโลยีนิวเคลียร์กับการเกษตร โดยมีไฮไลต์ในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีรายได้เพิ่มพูนและผลผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น , สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หัวข้อนิทรรศการศูนย์เฝ้าระวังทางรังสีโดยมีไฮไลต์กิจกรรมการค้นหารังสีและเฝ้าระวังภัยทางรังสี , สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หัวข้อนิทรรศการปีแห่งดวงหางมีไฮไลต์พิเศษจัดแสดงดาวหางจำลองและจัดแสดงอุกกาบาตนอกโลก , สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. มีหน่วยงานหนึ่ง ชื่อ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา จัดสร้างหลักสูตรเทคโนโลยีวิชาชีพเฉพาะทาง เพื่อเป็นการปูทางพื้นฐานเส้นทางการศึกษาและเส้นทางอาชีพที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษา โดยเบื้องต้นจะมีการนำร่องก่อน 4 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีรถไฟความ เร็วสูงและรถไฟฟ้า นวัตกรรมเพื่อการเกษตรเน้นสาขาการปรับปรุงพันธุ์พืชและการผลิตพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ และสาขาเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำพันธุ์ข้าว ข้าวไรซ์เบอรี่ (Riceberry) ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ลักษณะเป็นข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาวมาโชว์ในงานด้วย , สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย คิดค้นน้ำมันที่สกัดจากสาหร่าย , องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ( อพวช.) มีกิจกรรมนิทรรศการ หัวข้อ SCI on the Move คือ นิทรรศการอินเตอร์แอคทีฟที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและธรรมชาติรอบตัว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของเยาวชนอีกมากมาย อาทิ ประดิษฐ์ตุ๊กตากลิ้งม้วน ประดิษฐ์ภูเขาไฟในขวด ฟองเต้นระบำ เป็นต้น
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงวิทย์ฯลฯ พร้อมให้บริการในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ความพร้อมของสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบจราจรภายในสถานที่ การรักษาความปลอดภัย การปฐมพยาบาล การต้อนรับ และจัดคิวลำดับชมงาน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักเรียน เยาวชน และผู้เข้าเยี่ยมชมงานที่มาเป็นหมู่คณะ
โดยเฉพาะในปีนี้ ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ( อพวช.) ได้ดำเนินการด้านการตลาดล่วงหน้าโดยการเชิญไปยังโรงเรียนต่างๆ กว่า 40,000 โรงเรียนทั่วประเทศ และขณะนี้มียอดจองเข้าชมงานเป็นหมู่คณะ แล้วประมาณ 400,000 คน และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้เข้าชมตลอดการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.25 ล้านคน นั่นแสดงถึงผลสำเร็จในการจัดงานที่ผ่านมา เป็นที่สร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้เข้าชมงาน
รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทุกหน่วยงานพร้อมแล้ว ที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จัดแสดงแก่ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะการที่จะกระตุ้นและสร้างบันดาลใจแก่เยาวชนไทย ในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการใช้ชีวิต และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ทั้งนี้ เยาวชน ครอบครัว และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2556” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 6 - 21 สิงหาคม 2556 เวลา 09.00 - 20.00 น. ณ ไบเทค บางนา และ งานเทคโนมาร์ท ในวันที่ 14 - 18 สิงหาคม ณ ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 10.00 — 20.00 น.
สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อ 02 577 9960
ส่วนเวลาที่เหมาะสมของการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป จันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00 - 20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 09.00 — 20.00 น.
นอกจากนี้ยังสามารถพบกับ 2 พรีเซนเตอร์ของงาน จ่อย (พงศกร เมตตาริกานนท์) และ พลอย ภัทรากร ตั้งศุภกุล) แห่งละครคุณชายรัชชานนท์ได้ภายในงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.nstf2013.com / www.facebook.com/nstf2013 / instagram ที่ nst2013thailand call center 1313 และสนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะโทร. 02-5779960
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ( อพวช.)
โทรศัพท์ 02-577 9999 ต่อ 2106, 2127 (สุตานันท์ , ชัญญ์ชญา)
- ศูนย์บริการร่วมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313
- คุณธนิษฐา วิทยานนท์ (ปุ๊ก)
ปรึกษาประชาสัมพันธ์ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2556
โทร 0-2439-4600 ต่อ 8302, Email: tanithav@corepeak.com