กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ก.ค.-ส.ค. พบเศรษฐกิจไทยเกิดภาวะชะงักงันจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีสัญญาณขยายตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 414 คน ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 19 กรกฎาคม 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมมีค่าเท่ากับ 2 จุด อยู่ในระดับเดียวกับเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 จุดในเดือนสิงหาคมนี้
อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีเป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไตรมาสแรกของปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริหาร นักธุรกิจที่มีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก
สภาพ ศก.ไทยปัจจัยหลักกระทบธุรกิจ
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรกที่ผู้บริหารเห็นว่ามีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม คือ สภาพเศรษฐกิจไทยได้ 4.3 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลงได้ 4.2 คะแนน สภาพเศรษฐกิจโลกได้ 4.1 คะแนนต้นทุนวัตถุดิบได้ 3.9 คะแนน และต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ได้ 3.8 คะแนน
การที่สภาพเศรษฐกิจไทยได้รับการประเมินว่าเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจมากที่สุด เนื่องจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจน ขณะที่ค่าครองชีพและหนี้สินภาคครัวเรือนกลับสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการของตลาดลดลง เมื่อประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ จึงเป็นสัญญาณด้วยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ธุรกิจจะต้องใช้ความพยายามในการหารายได้มากขึ้น และต้องประเมินต้นทุนในการทำธุรกิจตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อสภาพคล่องและรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ดัชนีต้นทุนเพิ่มต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีด้านการทำธุรกิจมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น จากผลการสำรวจ ดัชนีด้านต้นทุนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือนกรกฎาคม ดัชนีต้นทุนมีค่าเพิ่มขึ้นเป็น 57 จุด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 59 จุดในเดือนสิงหาคม ขณะที่ดัชนีด้านรายได้ในเดือนกรกฎาคมได้ปรับลดลงมาเป็น 1 จุด และคาดว่าอยู่ในระดับเดียวกันในเดือนสิงหาคม
การที่ดัชนีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีรายได้ลดลง ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าติดลบและมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อไป โดยติดลบเพิ่มขึ้นเป็น -8 จุดในเดือนกรกฎาคมและคาดว่าติดลบน้อยลงเป็น -5 จุดในเดือนสิงหาคม ส่วนดัชนีการจ้างงานในเดือนกรกฎาคมมีค่า 1 จุด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 จุดในเดือนต่อไป