กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังเสนอแนวทางแก้ปัญหาวิฤตการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเลด้วยองค์ความรู้นาโนเทคโนโลยีธรรมชาติ ชู 3 วัสดุนาโนทางธรรมชาติ อันได้แก่ ฟางข้าว/กากมะพร้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน โดยวัสดุทางธรรมชาติ 2 ชนิดนี้ เมื่อดูดซับน้ำมันมาแล้ว จะสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกครั้งพร้อมไฮไลท์ครั้งสำคัญกับการค้นพบครั้งแรกในการนำ ดอกของต้นธูปฤาษีมากำจัดคราบน้ำมันดิบ โดยน้ำหนักของดอกต้นธูปฤาษีประมาณ 100 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร โดยปัจจุบัน ต้นธูปฤาษี เป็นวัชพีชที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศไทย จะขึ้นตามที่รกร้าง ซึ่งคาดว่าถ้านำ 3 วัสดุนาโนทางธรรมชาติ มาผสมผสานวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้ จะสามารถช่วยให้การฟื้นฟูชายฝั่งทะเล ตลอดจน คราบน้ำมันในท้องทะเลได้อย่างรวดเร็ว โดยแนวทางดังกล่าวเป็นองค์ความรู้นาโนโนเทคโนโลยีทางธรรมชาติซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลกระต่อใดๆสิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถหาวัสดุนาโนทางธรรมชาติดังกล่าวได้อย่างง่าย และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นคืนความงดงามให้กับทะเลของจังหวัดระยอง อีกทั้ง สจล. ยังแนะนำ 3 หลักการเลือกวัสดุในธรรมชาติเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ประเภทอื่นที่สามารถเก็บกักน้ำมันได้ตามหลักทางนาโนศาสตร์
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์0-2329-8400 ถึง 8411 ต่อ 285, 286
ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)กล่าวว่า เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันรั่วในทะเล บริเวณท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยองขณะนี้ได้ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ทั้งในด้านความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลด้วย แม้ว่าภาครัฐและองค์กรเอกชนได้เริ่มเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วบางส่วน ผลกระทบที่ขยายเป็นวงกว้างยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการช่วยเหลือหรือการแก้ไขปัญหาให้ทั่วถึง ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วในทะเลตามหลักสากล มีหลายวิธี เช่นการปล่อยให้น้ำมันสลายตัวไปเอง การกักหรือเก็บโดยใช้ทุ่น การใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันการเผา และการทำความสะอาดชายฝั่งโดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการขจัดน้ำมัน อาทิ ชนิดของน้ำมัน ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล ทิศทางและความเร็วของกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการช่วยเหลือในวงกว้างเท่านั้นแต่สำหรับการช่วยเหลือภาคของประชาชนนั้น ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้นำเสนองานวิจัยของวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังที่ช่วยในการกักเก็บน้ำมันบริเวณชายฝั่ง โดยการใช้ฟางข้าวกักน้ำมัน และกากมะพร้าวกักน้ำมัน เป็นต้น วัสดุบางอย่างเช่นฟางข้าวกักน้ำมันยังสามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย อนึ่ง งานวิจัยอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนาโน สารนาโนรวมถึงการผลิตผ่านกระบวนการนาโน ซึ่งสารนาโนหรือกระบวนการผลิตนาโนนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับสารเคมีตัวอื่นๆ
ศาสตราจารย์จิติกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านหรือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์นาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้(สาธิตตามเอกสารแนบประกอบ)
1. กากมะพร้าวกักน้ำมัน / ฟางข้าวกักน้ำมันเคลือบสารนาโน
เป็นการนำฟางข้าวหรือวัสดุประเภทกากมะพร้าว นำมาผ่านกระบวนการนาโน และเคลือบสารคาร์บอน เพื่อให้ฟางข้าวสามารถกักเก็บหรือดูดซับน้ำมันได้ดียิ่งขึ้นกว่าคุณสมบัติดั้งเดิมของตัวมันเอง ทั้งนี้ฟางข้าวกักน้ำมัน เมื่อดูดซับน้ำมันมาแล้ว จะสามารถนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกครั้ง โดยการนำฟางข้าวหรือกากมะพร้าวที่ดูดซับน้ำมันมาแล้ว ไปตากแห้งและไปเข้าเตาเผา เพื่อแปรสภาพให้คล้ายกับถ่านหุงต้ม
2. ดอกของต้นธูปฤาษี ในการกำจัดคราบน้ำมันดิบ (ไฮไลท์)
ใช้ดอกธูปฤาษีปริมาณ 1 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันปริมาตร 10 ml ได้อย่างหมดจดและมีประสิทธิภาพสูงมาก โดยหลังจากการใช้ดอกต้นธูปฤาษีในการกำจัด พบว่าคราบน้ำมันจะจับกันเป็นก้อนสีดำและลอยอยู่เหนือน้ำ สามารถนำขึ้นมาได้โดยง่ายดายดังรูปที่ 4, 5 และ 6 ตามลำดับ ดังนั้นโดยสรุปคือ ดอกของต้นธูปฤาษีสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี โดยน้ำหนักของดอกต้นธูปฤาษีประมาณ 100 กรัม สามารถกำจัดคราบน้ำมันได้มากกว่า 1 ลิตร )
อย่างไรก็ตาม ยังมีวัสดุนาโนทางธรรมชาติอีกหลายชนิด ที่มีความสามารถในการดูดซับน้ำมันได้ โดยมี หลักการเลือกวัสดุในธรรมชาติเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน ดังนี้ 1.มีขนหรือหนามเล็กๆ หรือเป็นเส้นใยฝอย ทำให้มีพื้นที่ผิวมาก 2.ไม่เปียกน้ำหรือนํ้าไม่เกาะ ทำให้ดูดซับน้ำมันได้ดี 3.มีนํ้าหนักเบาทำให้ลอยนํ้าอยู่ได้เพื่อตักไปกำจัดทิ้งโดยในปัจจุบัน นาโนเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตโดยปัจจุบันความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทยนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดย สจล. ตั้งเป้าในการนำนาโนเทคโนโลยีมาเผยแพร่สู่ชุมชนท้องถิ่นและเยาวชนไทย เพื่อนำนาโนเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้เยาวชนไทยสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต ศาสตราจารย์จิติกล่าวสรุป
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์0-2329-8400 ถึง 8411 ต่อ 285, 286
ดร.อภิลักษณ์ เอียดเอื้อ อาจารย์ผู้วิจัย
ศาสตราจารย์จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)