“ศิริวัฒน์” ดัน 5 ยุทธศาสตร์อาเซียนฟู้ดฮับรองรับ AEC พร้อมร่วมมือกับประเทศอาเซียนสร้างฐานการผลิตและการลงทุนด้านประมงอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday August 5, 2013 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ศิริวัฒน์” ดัน 5 ยุทธศาสตร์อาเซียนฟู้ดฮับรองรับ AEC พร้อมร่วมมือกับประเทศอาเซียนสร้างฐานการผลิตและการลงทุนด้านประมงอย่างยั่งยืน หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าประมงอาเซียนในเวทีโลก นายศิริวัฒน์ ขจรประสาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคการประมงไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสร้างฐานการผลิตร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าประมงไทยไปยังตลาดโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมประมงจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น ASEAN Seafood Hub ภายในปี 2015 โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบแผนงานหลักคือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาปรับปรุงและผลิตสัตว์น้ำที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ กุ้งและปลานิล โดยทำควบคู่ไปกับการวิจัยสูตรอาหารและรูปแบบการให้อาหารเพื่อลดต้นทุนการผลิต 2.การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการควบคุมคุณสินค้าประมงตลอดห่วงโซ่การผลิต เน้นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของระบบควบคุมคุณภาพสินค้าประมงตั้งแต่ระดับฟาร์ม โรงงานแปรรูปและสินค้าส่งออกของไทยได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลรวมทั้งข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ 3.การรักษาปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจากการทำประมงร่วมในน่านน้ำต่างประเทศ ซึ่งกรมประมงและผู้ประกอบของไทยได้ร่วมกันเจรจากับรัฐบาลประเทศต่างๆที่ผู้ประกอบการไทยไปทำประมง เช่น อินโดนีเซียและพม่า เพื่อร่วมลงทุนด้านการแปรรูปสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน 4.สนับสนุนการค้าและการลงทุนร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยกรมประมงจะดำเนินงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(BOI) และสำนักงานทูตพาณิชย์ในต่างประเทศจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจประมงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ลาว พม่าและกัมพูชา 5.จัดงานแสดงสินค้าประมงระดับนานาชาติในประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งระบบได้ประชาสัมพันธ์และนำเสนอสินค้าประมงของไทยกับผู้นำเข้าจากนานาประเทศทั่วโลก “ปัจจุบันสินค้าประมงของไทยสามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 200,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.5% ของ GDP เนื่องจากระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าประมงของไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าทั่วโลก แต่ด้วยข้อจำกัดปริมาณสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กับสินค้าประมงไทย และเตรียมพร้อมการเข้าสู่ AEC กรมประมงจึงได้ร่วมกับผู้ประกอบการไทยเจรจาต่อรองกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อกำหนดเงื่อนไขการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนความร่วมมือด้านการลงทุนในธุรกิจประมงร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างฐานการผลิตร่วมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายศิริวัฒน์กล่าว ด้านนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงแผนงาน ASEAN Seafood Hub ในปี 2556 ว่า กรมฯได้จัดตั้งธนาคารพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อรวบรวมและขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว จากนั้นในปีงบประมาณ 2557 จะทำการแจกจ่ายพันธุ์ดี และฝึกอบรมเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์น้ำพันธุ์ดีรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิจัยการลดต้นทุนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำคู่กับการปลูกพืชไร้ดิน, เลี้ยงในระบบหนาแน่น และปรับปรุงสูตรอาหารสัตว์น้ำที่เหมาะสม โดยทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจสอบของห้องปฏิบัติการ และพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานฟาร์มสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าประมงของไทย อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันเพื่อยกดับความน่าเชื่อถือเรื่องระบบป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย กรมฯยังได้จัดตั้งท่าเรือประมงนำร่องตามมาตรฐานรัฐเจ้าของท่าเรือ(Port State Measures) ตามองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) กำหนดซึ่งคาดว่าเมื่อเข้าสู่ AEC จะทำให้มีการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆทั่วโลกมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ